ศาสตราจารย์โยเซฟ ยาร์เดน นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มันน์ เผยผลการวิจัยร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐอเมริกา พบว่าปริมาณของอุโมงค์รูพรุนที่ชื่อว่า NUP93 มีผลต่อมะเร็งเต้านมที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว ศ.ยาร์เดนเผยว่า การรักษามะเร็งที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วเป็นเรื่องยากมาก แต่การค้นพบสาเหตุการลุกลามของโรคอาจนำไปสู่การคิดค้นยาตัวใหม่ในการรักษา การค้นพบครั้งนี้ นักวิจัยเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลจากการรอดชีวิตของผู้ป่วย กับยีนที่มีความแอ็กทีฟในมะเร็งที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว โดยพบว่ามียีนประมาณ 20 ตัวจาก 25,000 ตัวที่ส่งผลต่อการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของมะเร็งเต้านม
นักวิจัยพบว่ารูพรุนหรืออุโมงค์แปลกๆที่ล้อมรอบนิวเคลียสของเซลล์ ซึ่งมีรหัสโปรตีนที่เรียกว่า NUP93 มีอยู่ในปริมาณมากผิดปกติในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีประวัติการรอดชีวิตต่ำที่สุด ในบางรายมียีนที่เอื้อต่อปริมาณของ NUP93 มากถึง 2-3 ชุด และพบว่าผู้ที่มีอุโมงค์รูพรุน NUP93 มาก ยังมีเนื้องอกที่ไม่ไวต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน คิดเป็น 1 ใน 3 ของมะเร็งเต้านมทั้งหมดและยังเป็นมะเร็งที่รักษายากเป็นพิเศษเพราะขาดตัวรับเอสโตรเจน ที่เป็นเป้าหมายในการรักษาด้วยยาต้านมะเร็งของฮอร์โมน ยาร์เดนระบุว่า การทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้มะเร็งลุกลามอย่างรวดเร็วเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากในปัจจุบันวิธีการรักษามะเร็งค่อนข้างจำกัด มะเร็งต้องการทางด่วนไปยังนิวเคลียส เพื่อให้สัญญาณการเติบโตจากภายนอกสามารถเข้าถึงจีโนมได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งมีอุโมงค์ NUP93 อยู่ระหว่างทางมากเท่าไร สัญญาณก็จะยิ่งเดินทางเร็วขึ้น และการแพร่กระจายในร่างกายของผู้ป่วยก็จะยิ่งมากขึ้น
การศึกษานี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของปริมาณ NUP93 กับการลุกลามและแพร่กระจายของมะเร็ง เมื่อทดลองในหนูทดลอง เซลล์ที่มี NUP93 จำนวนมากจะแพร่กระจายไปยังปอด โดยอาศัยโปรตีน NUP93 ซึ่งสามารถเข้าถึงจีโนมของเซลล์ได้ อย่างไรก็ตาม แม้การปิดอุโมงค์ NUP93 อย่างสิ้นเชิงยังไม่สามารถทำได้ แต่การทดลองทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของ NUP93 เข้าไปในเซลล์อาจเป็นวิธีที่สามารถลดการเคลื่อนที่ของเซลล์มะเร็งได้.
...