เถียงกันในโซเชียลมีเดียเรื่องอูเครนมีสัมพันธ์ขั้นลึกกับสหรัฐฯ นาโต และตะวันตกตั้งแต่เมื่อใด คนโน้นพูดอย่างนั้น คนนั้นก็พูดอย่างนี้ ผมจึงถาม ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย ผู้ที่เคยนั่งสนทนาอย่างสนิทชิดใกล้กับผู้นำอูเครน คนที่เมื่อครั้งเป็นประธานาธิบดีพาอูเครนไปคบค้าใกล้ชิดกับสหรัฐฯ นาโตและ ตะวันตก ประวัติศาสตร์ตรงนี้น่าสนใจ แต่ส่วนใหญ่ก็อ่านกันมาจากเอกสารต่างๆ แต่อาจารย์นิติภูมิธณัฐไปนั่งคุยกับผู้ปฏิบัติจริง

วันหนึ่งในเดือนกันยายน ค.ศ.2017 อาจารย์ได้รับชวนให้ไปสนทนากับ ฯพณฯ วิคเตอร์ ยูเชนโค อดีตประธานาธิบดีอูเครนที่สำนักงานของท่านในกรุงคีฟ

26 ปี ก่อนที่จะพบกับประธานาธิบดียูเชนโค อาจารย์นิติภูมิธณัฐอยู่ในสหภาพโซเวียตตอนที่กำลังจะแตก อูเครนแยกเป็นประเทศใหม่เอี่ยมถอดด้ามเมื่อ 1 ธันวาคม 1991 แบ่งการปกครองออกเป็น 24 จังหวัด+เขตการปกครองอิสระ 1 สาธารณรัฐ คนดัง ในตอนแยกประเทศมี 2 คน คนแรกแกต่อต้านคอมมิวนิสต์สุดฤทธิ์ชื่อนายเวียเชสลาฟ ชอร์โนวิล อีกคนเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เก่าและเป็นอดีตประธานสภาชื่อนายเลโอนิด คราฟชุค เมื่อเป็นประเทศใหม่ก็ต้องมีการเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ ปรากฏว่านายชอร์โนวิลที่ชอบตะวันตกแพ้ ส่วนคราฟชุคได้คะแนนเสียงร้อยละ 62 จึงได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ

มีอยู่ช่วงหนึ่ง ผีห่าซาตานมาบันดาลให้คราฟชุคคุยเรื่องจะไปสร้างความสัมพันธ์กับตะวันตก คนอูเครนที่หนุนรัสเซียจึงไม่พอใจ ทำการเมืองอูเครนโคลงเคลงและไม่ราบรื่นจนคราฟชุคต้องจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาก่อนกำหนดในเดือนมิถุนายน 1994

คราวนี้คนอูเครนภาคตะวันออกและภาคใต้ที่ชอบรัสเซียจึงเลือกประธานาธิบดีที่มีชื่อเลโอนิด คุชมา ซึ่งเป็นพวกโปรรัสเซีย แต่พอขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแล้วก็มีมือที่มองไม่เห็นมาขอให้คุชมาดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์กับสหรัฐฯ นาโต และตะวันตก พวก ส.ส.ที่หัวเอียงทางรัสเซียจึงคัดค้านจนงานของคุชมาไม่เดิน

...

ชะตากรรมของอูเครนเปลี่ยนไปเมื่อปลาย ค.ศ.1999 เมื่อผู้อำนวยการธนาคารแห่งชาติอูเครนที่มีชื่อว่าวิคเตอร์ ยูเชนโค ซึ่งมีหัวเอียงไปทางสหรัฐฯ ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ขึ้นมาเป็นนายกฯปุ๊บ ยูเชนโคก็มีนโยบายเอียงไปทางสหรัฐฯปั๊บ พวก ส.ส.ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายรัสเซียยอมไม่ได้ จึงชุมนุมสุมหัวกันยื่นเรื่องขอถอดถอนยูเชนโคออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วก็ทำสำเร็จเสียด้วย เรื่องนี้ทำให้ประชาชนคนอูเครนที่หัวเอียงไปทางตะวันตกไม่พอใจ ออกไปชุมนุมต่อต้านรัฐสภา และเรียกร้องให้ประธานาธิบดีคุชมาลาออก

ส่วนยูเชนโค เมื่อไม่มีตำแหน่งทั้งผู้อำนวยการธนาคารแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็เดินการเมืองเต็มตัว ท่านไปสะสมผู้คนทางภาคตะวันตกซึ่งชอบสหรัฐฯ จนสามารถสร้างตัวเองเป็นหัวหน้ากลุ่มการเมืองผสมที่มีชื่อว่านาชายูเครยินา ระหว่าง ค.ศ.2001- 2004 นี่ละครับ ที่ชาวอูเครนซีกตะวันตกซึ่งมีหัวเอียงไปในทางต่อต้านรัสเซียเริ่มรวมกลุ่มกันได้ โดยมียูเชนโคเป็นผู้นำ

ค.ศ.2004 ทันทีที่ประธานาธิบดีคุชมาหมดวาระ แกก็ตะโกนว่าเข็ดแล้ว ไม่เอาแล้ว ไม่เป็นแล้ว เป็นประธานาธิบดีอูเครนนี่มันยากจริงๆ ผู้คนแบ่งเป็นสองฝักสองฝ่าย ประท้วงกันทุกวัน เบื่อจริงโว้ย การเลือกตั้งประธานาธิบดี ค.ศ.2004 จึงเป็นการประลองกำลังกันระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย ฝ่ายนิยมรัสเซียส่ง วิคเตอร์ ยานูโควิช ลงแข่ง มีโปรโมเตอร์คืออดีตประธานาธิบดีคุชมาและประธานาธิบดีปูติน ฝ่ายนิยมตะวันตกส่งวิคเตอร์ ยูเชนโค โดยมีโปรโมเตอร์คือสหรัฐฯและยุโรป

ผลการเลือกตั้งรอบแรก 23 ตุลาคม 2004 ยูเชนโคฝ่ายสหรัฐฯได้เสียงสนับสนุนร้อยละ 39.87 ยานูโควิชฝ่ายรัสเซียได้เสียงสนับสนุนร้อยละ 39.32

พรุ่งนี้มาต่อครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com