• ประเทศทั่วโลกเริ่มทยอยผ่อนปรนมาตรการคุมโควิด-19 เดนมาร์กเป็นประเทศแรกของยุโรปที่ยกเลิกมาตรการควบคุมโรคระบาด เนื่องจากถึงแม้ว่าจะยังพบผู้ป่วยต่อเนื่อง แต่ตัวเลขผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลยังคงที่ และผู้ป่วยอาการสาหัสมีจำนวนลดลง
  • ผู้เชี่ยวชาญชี้โควิดโอมิครอนมีโอกาสกลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าในระหว่างนี้จะไม่เกิดไวรัสกลายพันธุ์ที่ทำให้เราต้องเดินถอยหลังกันอีกครั้ง อีกทั้งยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าการแพร่ระบาดนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปทิศทางใด
  • ด้านองค์การอนามัยโลกเตือนการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ต้องเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการยกเลิกมาตรการควบคุมโรคระบาดในคราวเดียวยังไม่ใช่คำตอบ มีหลายประเทศที่ยังไม่เข้าสู่ช่วงการแพร่ระบาดสูงสุด และนับว่าเร็วไปที่แต่ละประเทศจะยอมแพ้ หรือประกาศชัยในการต่อสู้กับโรคโควิดในช่วงเวลานี้

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กินระยะเวลายาวนานถึง 2 ปี และเกิดการกลายพันธุ์ของโรคโควิดหลายครั้งหลายครา แต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดอย่างรวดเร็ว แต่มีอาการส่วนใหญ่ไม่รุนแรง ทำให้โรงพยาบาลสามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยได้ แตกต่างจากโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่ส่งผลให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตในหลายประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้หลายฝ่ายมองว่าโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะเข้ามาจบเกมการแพร่ระบาด และสุดท้ายแล้วโรคโควิด-19 จะกลายเป็นไข้หวัดประจำถิ่น

...

การแพร่ระบาดของโอมิครอนได้แซงหน้าจำนวนผู้ป่วยเดลตาไปอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงระยะเวลาการแพร่ระบาด 10 สัปดาห์ ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทั่วโลกถึง 90 ล้านราย นับว่ามากกว่าจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงปี 2020 เสียอีก ส่วนองค์การอนามัยโลกเตือนการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ต้องเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการยกเลิกมาตรการควบคุมโรคระบาดในคราวเดียวยังไม่ใช่คำตอบ และยังมีหลายประเทศที่ยังไม่เข้าสู่ช่วงการแพร่ระบาดสูงสุด

หลายประเทศทั้งฝั่งยุโรปอย่างอังกฤษและเดนมาร์ก รวมถึงโอเชียเนียอย่างออสเตรเลีย ได้เริ่มทยอยผ่อนปรนมาตรการต่างๆ โดยอังกฤษได้ยกเลิกข้อบังคับสวมใส่หน้ากากอนามัย ส่วนเดนมาร์กยกเลิกมาตรการในประเทศทั้งหมดเป็นประเทศแรกของยุโรป ถึงแม้ว่าตัวเลขผู้ป่วยจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม 

โอมิครอนมีโอกาสกลายเป็นโรคประจำถิ่น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังจากที่โรคโควิดโอมิครอนได้ระบาดไปเกือบทั่วทุกมุมโลกในเวลาอันสั้น แต่ความรุนแรงของโรคนั้นน้อยกว่าโรคโควิด-19 สายพันธุ์ก่อนหน้า ทำให้ความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโอมิครอนนั้นลดลงตามไปด้วย ด้านสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นได้รายงานบทสัมภาษณ์ของศาสตราจารย์เอวิน เฮย์แมน จากสถาบันสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนลอนดอน ที่ระบุว่า ไวรัสทุกตัวนั้นพยายามที่จะเป็นโรคประจำถิ่น และดูเหมือนว่าโควิดโอมิครอนมีโอกาสทำสำเร็จ แต่ถึงอย่างไรก็ตามยังวางใจไม่ได้ว่าโอมิครอนจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เพราะอาจเกิดการกลายพันธุ์ที่คาดไม่ถึงต่อจากนี้ และโรคโควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นเมื่อไหร่นั้นก็ยังไม่สามารถยืนยันได้

สอดคล้องกับ มาร์ก วูลเฮาส์ ศาสตราจารย์ด้านโรคติดต่อจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ที่ระบุว่า แม้ว่าโรคโควิด-19 จะมีโอกาสกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าในระหว่างนี้จะไม่เกิดไวรัสกลายพันธุ์ที่ทำให้เราต้องเดินถอยหลังกันอีกครั้ง อีกทั้งยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าการแพร่ระบาดนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปทิศทางใดต่อจากนี้

WHO เตือนระวังไวรัสกลายพันธุ์ การผ่อนปรนมาตรการต้องค่อยเป็นค่อยไป

แม้ว่าผู้ป่วยโอมิครอนส่วนใหญ่จะมีอาการของโรคไม่รุนแรงเท่ากับสายพันธุ์เดลตา แต่ผู้เชี่ยวชาญได้เตือนว่าอย่าดูถูกโอมิครอน และยังคงต้องตั้งการ์ดรับมือกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่

ด้าน ไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการโครงการฉุกเฉินด้านสาธารณสุขขององค์การอนามัยโลก ได้เตือนว่า ความกดดันทางการเมืองอาจทำให้หลายประเทศเร่งเปิดประเทศเร็วขึ้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจนำไปสู่ความรุนแรงของโรค และอัตราการเสียชีวิตที่ไม่ควรเกิดขึ้น แม้ว่าจะสามารถผ่อนปรนมาตรการต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจในประเทศเดินหน้าต่อไปได้ แต่การยกเลิกมาตรการควบคุมโรคระบาดในคราวเดียวยังไม่ใช่คำตอบ อีกทั้งยังมีหลายประเทศที่ยังไม่เข้าสู่ช่วงการแพร่ระบาดสูงสุด ทำให้การยกเลิกกฎต่างๆ ต้องค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ

...

ส่วนนายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกได้ย้ำเตือนว่า การแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นหมายความว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย พร้อมทั้งระบุว่า ไม่ได้เรียกร้องให้แต่ละประเทศกลับเข้าสู่การล็อกดาวน์ แต่ขอให้ทุกประเทศปกป้องประชาชนโดยใช้ทรัพยากรอย่างเต็มความสามารถ ไม่ใช่แค่วัคซีนเพียงอย่างเดียว และยังคงเร็วไปที่แต่ละประเทศจะยอมแพ้ หรือประกาศชัยในการต่อสู้กับโรคโควิดในช่วงเวลานี้

ในขณะเดียวกัน ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการบริหารด้านโครงการภาวะฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก ได้ร้องขอให้แต่ละประเทศประเมินสถานการณ์หาทางออกของประเทศของตน และอย่าหลับหูหลับตาผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคตามประเทศอื่น เพราะแต่ละประเทศนั้นมีสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป และระบุว่าหากต้องการเปิดประเทศในเร็ววัน ก็ต้องสามารถปิดประเทศให้ได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

ยุโรปทยอยยกเลิกมาตรการคุมโควิด 

ทางการเดนมาร์กได้ยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศทั้งหมดไปในวันที่ 31 ม.ค. 65 โดยเมตเต เฟรเดอริกเซน นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก แถลงว่า เดนมาร์กจะกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งหลังจากที่สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่วิกฤติมาได้ ซึ่งการประกาศดังกล่าวทำให้เดนมาร์กเป็นประเทศแรกของยุโรปที่ยกเลิกมาตรการควบคุมโรคระบาด โดยคาดว่าจะมีการยกเลิกการใช้บัตรผ่านดิจิทัล แต่ยังคงบังคับใช้มาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศต่อไป ขณะเดียวกันทางการเดนมาร์กยังได้เปลี่ยนสถานะของโรคโควิด-19 โดยโรคดังกล่าวจะไม่ถูกจัดให้เป็นภัยคุกคามต่อสังคมหลังจากนี้ เนื่องจากถึงแม้ว่าจะยังพบผู้ป่วยต่อเนื่อง แต่ตัวเลขผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลยังคงที่ และผู้ป่วยอาการสาหัสมีจำนวนลดลง

...

เช่นเดียวกับประเทศสวีเดนประกาศยกเลิกมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ภายในประเทศ โดยนางมักดาลีนา แอนเดอร์สัน นายกรัฐมนตรีสวีเดน ระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่สวีเดนจะกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง ทำให้ร้านอาหารสามารถกลับมาให้บริการโดยไม่มีการกำหนดจำนวนลูกค้าและเวลาเปิดทำการ ส่วนข้อบังคับการสวมใส่หน้ากากอนามัยขณะใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ รวมถึงข้อบังคับแสดงบัตรฉีดวัคซีนจะถูกยกเลิกเช่นกัน โดยถึงแม้ว่าสวีเดนยังพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น แต่ไม่กระทบต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล และมีชาวสวีเดนที่อายุมากกว่า 50 ปี จำนวน 80 เปอร์เซ็นต์ ได้รับวัคซีนครบสามโดสแล้ว

นอกจากนี้ประเทศฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ และเนเธอร์แลนด์ ก็ได้ผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคระบาดเช่นกัน 

ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ทยอยเปิดประเทศ

ส่วนนิวซีแลนด์เตรียมเปิดพรมแดนรับนักเดินทางในปีนี้ เพื่อเปิดทางให้ชาวนิวซีแลนด์สามารถเดินทางกลับเข้าประเทศ โดยมีผลให้ชาวนิวซีแลนด์ที่เดินทางกลับจากประเทศออสเตรเลียไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัว ส่วนชาวนิวซีแลนด์ที่ฉีดวัคซีนครบโดสจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลก จะสามารถเดินทางกลับเข้านิวซีแลนด์โดยไม่ต้องกักตัวในเดือนมีนาคม ในขณะที่นักเดินทางต่างชาติสามารถเดินทางเข้านิวซีแลนด์ได้ในเดือนตุลาคม

...

ด้านนางจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ระบุว่า การบังคับใช้มาตรการคุมเข้มพรมแดนนั้นเป็นการปกป้องชีวิตของชาวนิวซีแลนด์ ซึ่งหลังจากผ่านไปสองปี นิวซีแลนด์พร้อมเดินหน้าอีกครั้ง โดยจะเปิดทางให้ครอบครัวชาวนิวซีแลนด์กลับมาพบหน้ากัน รวมถึงกระตุ้นภาคเศรษฐกิจและการส่งออกหลังจากนี้

ด้านออสเตรเลียเตรียมเปิดพรมแดนต้อนรับนักเดินทางต่างชาติที่ถือวีซ่าออสเตรเลียและฉีดวัคซีนครบโดส ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้เป็นต้นไป หลังจากที่ได้ปิดประเทศยาวนานถึง 2 ปี เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้านนายสก็อต มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ระบุว่า ออสเตรเลียยินดีต้อนรับนักเดินทางที่ฉีดวัคซีนครบสองโดส ซึ่งการประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 ในออสเตรเลียเริ่มลดลง ในขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการปิดพรมแดน ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้าออสเตรเลียได้.

ผู้เขียน: นัฐชา

ที่มา: CNN , 7news, abcnews