• การรัฐประหารในประเทศเมียนมาผ่านไปครบ 1 ปีแล้ว แต่การปะทะนองเลือดระหว่างกองทัพรัฐบาลกับกองกำลังพลเรือนติดอาวุธฝ่ายต่อต้านกลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนใกล้จะเรียกได้ว่าเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมือง

  • ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เมียนมามีผู้เสียชีวิตจากการปะทะนองเลือดมากกว่า 12,000 ศพ แต่ในจำนวนนี้มีเพียง 1,500 ราย ที่เป็นการตายระหว่างการประท้วง ขณะที่ส่วนใหญ่มาจากการปะทะระหว่างกองทัพกับฝ่ายต่อต้าน

  • ท่ามกลางสถานการณ์อันเลวร้ายในเมียนมา นานาชาติโดยเฉพาะกลุ่มอาเซียน กลับยังไม่สามารถหาทางออกใดๆ ให้กับวิกฤติซึ่งอาจส่งผลกระทบไปทั้งภูมิภาคครั้งนี้ได้

การรัฐประหารในประเทศเมียนมาผ่านไปครบ 1 ปีแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.พ. แต่การปะทะนองเลือดระหว่างกองทัพรัฐบาลกับกองกำลังพลเรือนติดอาวุธฝ่ายต่อต้านกลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยความเข้มข้นกับขอบเขตของความรุนแรง และการสอดประสานของการโจมตีของฝ่ายต่อต้าน บ่งชี้ว่าสถานการณ์กำลังเปลี่ยนจากการลุกฮือไปเป็นสงครามกลางเมือง

ตอนนี้ความรุนแรงกระจายไปหลายพื้นที่ทั่วประเทศเมียนมาแล้ว โดยรายงานจากหลายแหล่งชี้ว่า ฝ่ายต่อต้านเริ่มประสานงานกันต่อสู้มากขึ้น และเริ่มเข้าถึงพื้นที่ใจกลางเมืองที่ไม่เคยมีการกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหารมาก่อน

อีกหนึ่งสัญญาณที่บอกว่า เมียนมากำลังเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองคือ หลังจากเกิดการรัฐประหาร การเสียชีวิตของพลเรือนส่วนใหญ่มาจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในการประท้วง แต่ตอนนี้ผู้เสียชีวิตจากการต่อสู้ด้วยอาวุธมีสูงกว่ามาก ซึ่งจำนวนการยืนยันจำนวนที่ชัดเจนเป็นเรื่องยาก แต่รายงานขององค์กรสังเกตการณ์ความรุนแรงอย่าง Acled ระบุว่า ตัวเลขอาจสูงกว่า 12,000 ราย

...

มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา
มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา

สถิติตัวเลขหลังรัฐประหาร

การก่อรัฐประหารของกองทัพเมียนมาเมื่อ 1 ก.พ. 2564 นับเป็นการยุติการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยรัฐบาลพลเรือน ซึ่งมีอายุเพียง 10 ปีเท่านั้น หลังรับช่วงอำนาจจากรัฐบาลทหารชุดก่อน นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหนัก และมีผู้คนจำนวนมากต้องพลัดถิ่นเนื่องจากการต่อสู้ระหว่างกองทัพและกองกำลังติดอาวุธ

ตามข้อมูลจาก สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) จำนวนผู้เสียชีวิตในการประท้วงต่อต้านรัฐประหารล่าสุดอยู่ที่ 1,503 ศพ โดยวันที่นองเลือดที่สุดคือวันที่ 27 มี.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันกองทัพ มีผู้ประท้วงเสียชีวิตจากการปราบปรามของเจ้าหน้าที่กว่า 160 ศพ ขณะที่มีฝ่ายต่อต้านรัฐประหารถูกทางการจับกุมตัวไว้ถึง 11,838 คน

การต่อสู้ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นทำให้มีผู้พลัดถิ่นอย่างน้อย 320,000 ราย ตามการเปิดเผยของสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNOCHA) ขณะที่ชาวเมียนมาถึง 46.3% ต้องใช้ชีวิตอย่างยากจนอันเป็นผลจากการรัฐประหารร่วมกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 และในปีนี้จะมีประชาชนกว่า 6.2 ล้านคนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน

ด้านธนาคารโลกระบุว่า ผลกระทบโดยตรงจากการรัฐประหาร ทำให้เศรษฐกิจของเมียนมาหดตัวถึง 30% จำนวนคนตกงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาอาจสูงถึง 1 ล้านตำแหน่ง การตัดอินเทอร์เน็ตเป็นระยะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจแก่เมียนมาถึง 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนค่าเงินจัตลดลง 25%

เมียนมากำลังเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมือง?

นางมิเชล บาเชเล ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว บีบีซี ว่า ความขัดแย้งในเมียนมาตอนนี้อาจใช้คำจำกัดความว่า สงครามกลางเมือง ได้แล้ว สถานการณ์ในชาติอาเซียนแห่งนี้กำลังเข้าขั้นหายนะ พร้อมเตือนว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น กำลังเป็นภัยต่อความมั่นคงของทั้งภูมิภาค

รายงานขององค์กรสังเกตการณ์ความรุนแรง Acled ระบุว่า นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 64 จนถึงวันที่ 21 ม.ค.ปีนี้ มีผู้เสียชีวิตจากเหตุความรุนแรงในเมียนมาแล้วมากถึง 12,621 ศพ แต่การเสียชีวิตระหว่างการประท้วงกลับเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนแรกเท่านั้น สาเหตุการตายส่วนใหญ่กลับเกิดจากการปะทะกันด้วยอาวุธระหว่างกองทัพและกองกำลังฝ่ายต่อต้าน และการโจมตีทางไกลด้วยระเบิด หรือกับระเบิด ซึ่งเกิดบ่อยครั้งขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน พลเรือนธรรมดาเริ่มหันไปจับอาวุธเพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการมากขึ้นเรื่อยๆ โดยหนึ่งในกองกำลังหลักเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “กองกำลังป้องกันประชาชน” (PDF) ซึ่งเป็นเครือข่ายพลเรือนติดอาวุธที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ สมาชิกส่วนมากประกอบด้วยผู้ใหญ่อายุน้อย จากหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่ชาวไร่หรือแม่บ้าน ไปจนถึงหมอและวิศวกร

PDF มีกองกำลังกระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่สิ่งที่มีนัยสำคัญคือ คนหนุ่มสาวจากกลุ่มชาติพันธุ์ พม่า ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ในแถบที่ราบกลางและเมืองต่างๆ ของเมียนมากองกำลังก้าวขึ้นมา และรวมกำลังกับคนหนุ่มจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันของเมียนมา ที่กองทัพต้องเผชิญการต่อต้านจากชาวพม่า

“พลเรือนมากมายไปเข้าร่วมกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ หรือก่อตั้งกลุ่มที่เรียกว่า กองกำลังป้องกันประชาชนขึ้นมา” นางบาเชเลกล่าว “นั่นคือเหตุผลที่ฉันพูดมาตลอดว่า หากเราไม่ทำอะไรที่เด็ดขาดมากขึ้นในเรื่องนี้ สถานการณ์จะกลายเป็นเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นในซีเรีย”

...

ไม่ใช่การต่อสู้ที่เท่าเทียม

อดีตนักธุรกิจชาวเมียนมาคนหนึ่งชื่อ นาการ์ ซึ่งควบคุมกองกำลัง PDF หลายหน่วยในเขตซะไกง์ บอกกับบีบีซีว่า นี่ไม่ใช่การต่อสู้ที่เท่าเทียมเลย PDF เริ่มต้นจากการใช้เพียงหนังสติ๊ก ก่อนจะสร้างปืนและระเบิดเป็นของตัวเอง แต่ฝ่ายกองทัพมีการโจมตีทางอากาศ ซึ่งใช้หลายครั้งในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทั้งยังได้รับอาวุธจากจีนและรัสเซีย ซึ่งสนับสนุนรัฐบาลทหารอย่างเปิดเผยด้วย

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งของกลุ่ม PDF คือการได้รับแรงสนับสนุนจากสังคมท้องถิ่น และได้ความช่วยเหลือจากรัฐสภาสหภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งเป็นอดีตรัฐบาลเมียนมาที่ถูกขับไล่ ในเรื่องการจัดระเบียนและเป็นผู้นำกองกำลัง PDF บางหน่วย คอยโจมตีเป้าหมายที่เป็นธุรกิจของรัฐบาลทหาร

ในด้านกำลังทหาร กองทัพเมียนมาระบุจำนวนทหารของพวกเขาไว้ที่ราว 370,000 นาย แต่จำนวนแท้จริงอาจน้อยกว่านั้น เนื่องจากมีการเกณฑ์ทหารน้อยลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และมีบางส่วนที่แปรพักตร์ไปหลังการรัฐประหาร ขณะที่จำนวนนักรบของกลุ่ม PDF ก็ไม่ชัดเจนเช่นกัน โดยนอกจากหน่วยที่ NUG ก่อตั้งแล้ว ยังมีสมาชิก PDF บางส่วนที่กำลังได้รับการฝึกฝานและติดอาวุธโดยกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์บริเวณชายแดน

กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ดังกล่าว บางกลุ่มเคยทำสัญญาหยุดยิงไว้กับรัฐบาลชุดก่อน แต่สัญญาที่ว่าถูกทำลายแล้ว โดย PDF พยายามผูกมิตรกับกองกำลังเหล่านี้ ด้วยการออกมาขอโทษที่ในอดีตเคยเชื่อโฆษณาชวนเชื่อของกองทัพว่ากลุ่มชาติพันธุ์พยายามแบ่งแยกประเทศ และตอนนี้พวกเขาต้องการสร้างสหพันธรัฐในอนาคต เพื่อที่ทุกคนจะได้มีสิทธิอย่างเท่าเทียม

...

โลกจะหยุดเมียนมาไม่ให้กลายเป็นรัฐที่ล้มเหลวได้หรือไม่?

สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกำลังผลักดันเมียนมาให้เข้าใกล้การเป็นรัฐที่ล้มเหลวมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง มันจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของทั้งภูมิภาค แต่นานาชาติกลับแทบไม่เคลื่อนไหวเพื่อหาทางคลี่คลายวิกฤตินี้เลย ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนกำลังกล่าวโทษว่าสาเหตุเป็นเพราะการลงมือล่าช้าของกลุ่มอาเซียนนี้เอง

กลุ่มอาเซียนจัดการเจรจาหาทางออกในเดือนเมษายน 64 แต่ไม่กี่วันต่อรัฐบาลทหารเมียนมากลับคำพูดที่จะหยุดยิง หลังจากนั้น อาเซียนใช้เวลานานเกือบ 4 เดือนในการแต่งตั้งทูตพิเศษไปเมียนมา แต่สุดท้ายกำหนดการเยือนก็ถูกยกเลิกเพราะกองทัพไม่ให้พบนางออง ซาน ซูจี ผู้นำรัฐบาลชุดก่อน ต่อมาในเดือนตุลาคม ก็ตัดสินใจไม่เชิญผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน

แต่ตัวอย่างจากอดีตที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า อาเซียนมีอิทธิพลต่อเหล่านายพลของเมียนมาน้อยมาก จีนต่างหากที่เป็นตัวแปรสำคัญในความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของเมียนมาที่แท้จริง พวกเขาคอยสนับสนุนรัฐบาลทหารชุดก่อนของเมียนมาซึ่งถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรอย่างหนักนานหลายสิบปี เนื่องจากเมียนมาจะหาทรัพยากรธรรมชาติมากมายให้จีน และเป็นทางส่งผ่านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากอ่าวเบงกอลกับทะเลอันดามันด้วย

ดังนั้นเสถียรภาพทางการเมืองในเมียนมาก็ถือเป็นผลประโยชน์ของจีน พวกเขายังมีความสัมพันธ์กับทั้งฝ่ายทหารกับพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางซูจี และกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มบริเวณชายแดน ถึงแม้ว่าความน่าเชื่อถือของจีนในฐานะตัวกลางเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการจะมีจำกัด แต่พวกเขาก็มีอำนาจมากพอในการเคลื่อนไหวหลังฉาก ให้เหล่านายพลของเมียนมายอมร่วมโต๊ะเจรจาได้

...

อีกประเทศที่มีเครดิตเพียงพอมาเป็นตัวกลางเจรจาคือญี่ปุ่น พวกเขามองเมียนมาเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการจำกัดการแผ่อิทธิพลของจีนภูมิภาคอาเซียน และทุ่มความพยายามตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาในการสนับสนุนชาวเมียนมา ด้วยการเดินสายกลางระหว่างการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และความได้เปรียบเชิงภูมิรัฐศาสตร์แบบจีน

หลังจากเกิดการรัฐประหาร มีบริษัทญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งตัดสินใจถอนตัวออกจากเมียนมา รัฐบาลญี่ปุ่นก็ยังคงส่งความช่วยเหลือแก่เมียนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้พวกเขามีภาษีดีกว่าจีนกับสหรัฐฯ ในการเป็นตัวกลางแก้ปัญหาความขัดแย้ง

อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้นานาชาติยังไม่มีทางแก้ปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน ในขณะที่นาการ์เชื่อว่าการรอให้นานาชาติช่วยเหลืออาจไม่ใช่ทางออกอีกต่อไป และ PDF ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากไขว่คว้าอนาคตของประเทศด้วยมือตัวเอง “ผมคิดว่าในวันนี้การแก้ปัญหาแบบอ้อมค้อมไม่ได้ผลอีกแล้ว โลกกำลังเมินเฉยต่อประเทศของเรา ดังนั้นผมจึงจับอาวุธขึ้นสู้”




ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : reuters , bbcthe conversation