ชั้นบรรยากาศของโลกไม่ใช่เปลือกหุ้มที่สม่ำเสมอ แต่ประกอบด้วยชั้นต่างๆที่แตกต่างกัน แต่ละชั้นก็จะมีคุณสมบัติเฉพาะ ชั้นล่างสุดที่สูงจากผิวโลกคือโทรโพสเฟียร์ ประกอบด้วยไอน้ำเป็นส่วนใหญ่ และเป็นชั้นที่มักเกิดปรากฏการณ์สภาพอากาศ ชั้นที่อยู่เหนือไปอีกคือสตราโตสเฟียร์ จะมีโอโซนซึ่งปกป้องเราจากรังสีอัลตราไวโอเลตที่เป็นอันตรายของดวงอาทิตย์

ล่าสุดทีมนักวิจัยนานาชาตินำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลุนด์ในสวีเดน และ National Centre of Competence in Research (NCCR) PlanetS ของมหาวิทยาลัยเบิร์นและมหาวิทยาลัยเจนีวาในสวิตเซอร์แลนด์ เผยการตรวจสอบดาวเคราะห์นอกระบบ WASP-189b อยู่ห่างโลก 322 ปีแสง ซึ่งจากสังเกตการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์คีออปส์ (CHEOPS) ในปี 2563 ได้เปิดเผยว่า WASP-189b อยู่ใกล้ดาวฤกษ์แม่ของตนมากกว่าโลกถึง 20 เท่า อุณหภูมิกลางวันอยู่ที่ 3,200 องศาเซลเซียส แต่การตรวจสอบล่าสุดด้วยเครื่อง HARPS spectrograph ที่หอดูดาวลาลาซีญาในชิลี ได้แสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกว่าชั้นบรรยากาศของ WASP-189b อาจมีบรรยากาศเป็นชั้นต่างๆแบบเดียวกับโลก แต่ลักษณะดาวกลับ แตกต่างกันมาก เพราะคล้ายดาวพฤหัสฯ

นักวิจัยระบุว่าก๊าซได้ทิ้งร่องรอยของธาตุไว้ในชั้นบรรยากาศของ WASP-189b ทั้งเหล็ก โครเมียม วาเนเดียม แมกนีเซียม และแมงกานีส และยังพบสารไทเทเนียม ไดออกไซด์ ที่หายากมากบนโลก แต่มีบทบาทสำคัญในซับรังสีคลื่นสั้น เช่น รังสีอัลตราไวโอเลต คล้ายกับโอโซนในชั้นบรรยากาศของโลก.