ปัจจุบันมีการยืนยันความเป็นไปได้ของดาวเคราะห์นอกระบบเกือบ 5,000 ดวง ซึ่งความเข้าใจส่วนใหญ่ก็คือดาวเคราะห์เหล่านั้นกำลังโคจรรอบดาวฤกษ์แม่ของตน เหมือนกับโลกและดาวเคราะห์เพื่อนบ้านทั้ง 7 ดวงที่กำลังโคจรรอบดวงอาทิตย์ แต่ระบบดาวอื่นๆก็อาจมีดาวเคราะห์หรือดาวฤกษ์ในจำนวนที่แตกต่างกันไป
เมื่อเร็วๆนี้กลุ่มนักดาราศาสตร์ได้แนะนำให้เรารู้ว่ายังมีดาวเคราะห์ประหลาดกว่านั้น เช่น ดาวเคราะห์ที่ลอยอยู่ในอวกาศอย่างอิสระโดยไม่ได้โคจรรอบดาวฤกษ์ใดๆทั้งสิ้น นับเป็นสิ่งที่ท้าทายการศึกษาของนักดาราศาสตร์ว่าดาวเคราะห์ร่อนเร่เหล่านี้ก่อตัวอย่างไร และจะไปลงเอยแบบไหน เพราะดาวเคราะห์พเนจรพวกนี้มองเห็นได้ยาก เนื่องจากขนาดค่อนข้างเล็กและเย็นจัด แหล่งความร้อนภายในแหล่งเดียวของพวกมันคือพลังงานที่เหลืออยู่จากการยุบตัว ยิ่งดาวเคราะห์ดวงเล็กเท่าใด ความร้อนก็จะยิ่งแผ่ออกไปเร็วขึ้นเท่านั้น เมื่อมันเป็นวัตถุเย็นในอวกาศก็จะปล่อยแสงน้อยลง และแสงที่ปล่อยออกมาจะเป็นสีแดงมากขึ้น นักดาราศาสตร์ระบุว่าการจะสังเกตดาวเคราะห์ลอยอย่างอิสระนี้ได้โดยตรง วิธีที่ดีที่สุดคือต้องตรวจจับพวกมันตั้งแต่ยังก่อตัวใหม่ๆ นั่นหมายความว่ายังมีความร้อนเหลืออยู่พอสมควรจากการก่อตัว
อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์เชื่อว่าดาวเคราะห์พวกนี้ บางดวงก็ไม่ได้กำพร้าดาวฤกษ์แม่มาตั้งแต่ต้น แต่น่าจะถือกำเนิดในระบบดาวที่มีการก่อตัวของจานฝุ่นรอบๆดาวฤกษ์อายุน้อย ทว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง ดาวเคราะห์พวกนี้ก็อาจถูกขับออกจากระบบดาวบ้านเกิดของตน เนื่องจากการมีปฏิสัมพันธ์กับดาวเคราะห์ดวงอื่น เลยทำให้ลอยละล่องไปอย่างไร้จุดหมาย.
Credit : European Southern Observatory, CC BY-SA
...