ปีเก่าผ่านไป ปีใหม่ 2565 เข้ามา กราบสวัสดีปีใหม่ผู้อ่านทุกท่านกันอีกครั้ง ช่วงส่งท้าย-ขึ้นปีใหม่ คงได้ชาร์จพลังกันอย่างเต็มที่นะครับ
พร้อมหวังด้วยว่า ตลอด 365 วันของปีนี้ จะเป็น “ขาขึ้น” ของทุกท่าน โชคดีมีชัย สุขภาพแข็งแรง รอดพ้นจากไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นตัวกลายพันธุ์ “เดลตา” หรือน้องใหม่ “โอมิครอน”
เพราะทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ไม่มีอยู่นิ่งกับที่ ขนาดวันขึ้นปีใหม่ 1 ม.ค. ที่เราฉลองกันมาตลอดนั้น เอาเข้าจริงแล้วก็เพิ่งมาปรับใช้ตามปฏิทินเมืองนอกเมื่อ 80 ปีก่อน โดยก่อนหน้านั้นไปอีก 53 ปี (หรือ 133 ปีก่อนหากเทียบกับวันนี้) ผู้ริเริ่มคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรด เกล้าฯให้ใช้ปฏิทิน “เกรกอเรียน” ตามกลุ่มประเทศยุโรป
ซึ่งปฏิทินเกรกอเรียนเองก็ยังประยุกต์มาอีกทีหนึ่งจากปฏิทินสมัยอาณาจักร “โรมัน” ในยุโรป โดยเมื่อปีที่ 46 ก่อนคริสตกาล หรือเมื่อ 2,068 ปีก่อน แม่ทัพ “จูเลียส ซีซาร์” ผู้ดำรงตำแหน่งเผด็จการรัฐสภาโรม ได้ตัดสินใจเอาวิชาการของ “อียิปต์” ที่โรมันเข้าปกครองมาใช้ และเปลี่ยนวันจากใน 1 ปีมี 355 วัน กลายเป็น 365 วัน โดยอิงจากการนับวิถีโคจรของดวงอาทิตย์ หรือที่เรียกว่า “สุริยคติ”
ทั้งนี้ เพื่อลดความยุ่งยากของการนับฤดูกาลแบบแต่ก่อน ที่ต้องมาปรับจำนวนวันกันทุกๆ 4 ปี ทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยเช่นกัน เนื่องจากปฏิทินที่ใช้กันก่อนหน้านั้น นักการเมืองระดับสูงจะเป็นผู้เคาะจำนวนวัน เพื่อให้ตัวเองได้ดำรงตำแหน่งนานขึ้น โดยปฏิทินดังกล่าวถูกเรียกว่า “ปฏิทินจูเลียน”
อย่างไรก็ตาม เวลาผ่านไป 1,628 ปีปฏิทินจูเลียนที่ใช้กันแพร่หลายทั่วยุโรป ได้ถูกปฏิรูปอีกครั้ง ตามคำสั่งของสมเด็จพระสันตะปาปา เกรโกรีที่ 13 เนื่องด้วยจากการคำนวณแล้วพบว่า การนับของปฏิทินจูเลียนจะทำให้ใน 1 ปีมี 365.24 วัน ซึ่งส่งผลต่อวันสำคัญทางศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นศาสนาหลักในยุโรป ด้วยเหตุนี้ จึงมีการปรับเปลี่ยนใหม่ให้ละเอียดขึ้น จนกลายเป็นที่มาของ “ปฏิทินเกรกอเรียน” ตามชื่อของพระองค์ เมื่อ พ.ศ.2125
...
แต่ก็ใช่ว่าจะทันทีทันใด ค่อยๆทยอยปรับใช้กันเรื่อยๆ อย่างอังกฤษเพิ่งปรับใช้เมื่อ พ.ศ.2268 ญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ.2416 ประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ.2432 เกาหลีเมื่อ พ.ศ.2439 สหภาพโซเวียต (รัสเซียในปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ.2465 ประเทศจีนเมื่อ พ.ศ.2472...กระนั้นในภูมิภาคบ้านเราก็จะผสมปนเปกันไป โดยเฉพาะการนับ “วันสำคัญ” ที่ยังอิงตามการโคจรของดวงจันทร์หรือ “ปฏิทินจันทรคติ” ที่จีน-ฮินดูใช้กันมายาวนาน.
ตุ๊ ปากเกร็ด