ผลการวิจัยเบื้องต้น 2 ฉบับชี้ว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ุโอมิครอน อาจทำให้ผู้ติดเชื้อป่วยหนักหรือเข้าโรงพยาบาลน้อยกว่าสายพันธ์ุเดลตา

สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ผลการวิจัยเบื้องต้นซึ่งยังไม่ผ่านการทบทวนโดยผู้เชี่ยวชาญคนอื่น (peer-review) ของมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในสหราชอาณาจักร ชี้ว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ุโอมิครอน มีความเสี่ยงทำให้ผู้ติดเชื้อต้องเข้าโรงพยาบาลน้อยลงกว่า 2 ใน 3 เมื่อเทียบกับสายพันธ์ุเดลตา

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ทำการศึกษาข้อมูลผู้ติดเชื้อโอมิครอนในสกอตแลนด์จำนวน 23,840 ราย กับผู้ติดเชื้อเดลตา 126,511 ราย ในช่วงวันที่ 1 พ.ย. ถึง 19 ธ.ค. พบว่า มีผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเพียง 15 ราย ขณะที่ผู้ติดเชื้อเดลตาเข้าโรงพยาบาลถึง 856 ราย

อย่างไรก็ตาม ศ.เจมส์ เนสมิธ จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งไม่ได้ร่วมเขียนงานวิจัยชิ้นนี้ เตือนว่า แม้โอกาสป่วยหนักจะลดลง 2 ใน 3 แต่โอมิครอนสามารถทำให้ผู้ฉีดวัคซีน 2 โดสป่วยหนักได้ ซึ่งถ้าผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็นเท่าตัวทุกๆ 2-3 วันแบบนี้ จำนวนผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลในกลุ่มผู้ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสจะมากกว่าเดลตา

นักวิจัยยังพบด้วยว่า อัตราส่วนของผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนแล้ว มีมากกว่าเดลตาถึง 10 เท่า ขณะที่การรับวัคซีนเข็ม 3 ลดความเสี่ยงติดเชื้อโอมิครอนได้ 57% เมื่อเทียบกับผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 มาแล้วอย่างน้อย 25 สัปดาห์

...

ส่วนงานวิจัยเบื้องต้นอีกฉบับ ซึ่งทำการศึกษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 161,328 รายในแอฟริกา ช่วงวันที่ 1 ต.ค. ถึง 6 ธ.ค. ชี้ว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอนมีโอกาสป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลลดลง 80% เมื่อเทียบกับการติดเชื้อเดลตา แต่เมื่อเข้าโรงพยาบาลแล้ว ความเสี่ยงป่วยหนักของเชื้อทั้งสองสายพันธ์ุแทบไม่ต่างกัน

ด้านผลการศึกษาผู้ติดเชื้อในอังกฤษระหว่างวันที่ 1-14 ธ.ค. ซึ่งเผยแพร่โดย ทีมตอบสนองโควิด-19 ของราชวิทยาลัยลอนดอน พบว่า ความเสี่ยงที่ผู้ติดโอมิครอนในอังกฤษจะเข้าโรงพยาบาล ลดลง 40% ถึง 45% เมื่อเทียบกับการติดเชื้อเดลตา แต่การศึกษานี้ยังพบด้วยว่า ภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน 2 โดสและจากการติดเชื้อก่อนหน้านั้น มีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเจอกับโอมิครอน.