ในยุคสงครามเย็นที่สหภาพโซเวียตเกรียงไกร ภูมิภาค “ยูเครน” ที่เป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ สำหรับคานอำนาจโลกตะวันตก

โดยถูกเลือกให้เป็นที่ตั้งและประจำการของอาวุธสำคัญ เพื่อใช้ในการโจมตีตอบโต้ หากสงครามเกิดขึ้นจริง ทั้งขีปนาวุธข้ามทวีปติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ เป็นจำนวนกว่า 1,700 หัวรบ หรือเกือบ 1 ใน 3 ของอาวุธนิวเคลียร์ที่โซเวียตครอบครอง หรือเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดหนักแบบ 4 เครื่องยนต์ อย่าง “ตูโปเลฟ-160” จำนวน 19 ลำ

สำหรับเครื่องบินทิ้งระเบิดดังกล่าว อยู่ในสังกัดกองบินทิ้งระเบิดที่ 184 ในเมืองปรีลูกี ทางภาคเหนือของยูเครน ซึ่งหากตามแผนการตอบโต้แล้ว เครื่องเหล่านี้ซึ่งสามารถบรรทุกจรวดร่อนติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ 6 ลูก หรืออาจมากสุดถึง 12 ลูก จะถูกใช้ในการถล่มฐานทัพและเมืองสำคัญๆ ของประเทศตะวันตก เนื่องด้วยตู-160 “แบล็คแจ็ค” มีพิสัยทำการแบบไม่ต้องแวะเติมน้ำมันกลางอากาศ ได้ไกลถึง 12,000 กิโลเมตร (ระยะทำการครอบคลุมทั้งภูมิภาคยุโรปและสามารถบินถึงสหรัฐฯ) ด้วยความเร็วสูงสุด 2,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการตั้งข้อสงสัยว่า หากสถานการณ์ในปัจจุบันที่โลกตะวันตก+ยูเครน กำลังเข้าสู่สภาวะตึงเครียดกับรัสเซีย เรื่องปัญหาการแบ่งแยกดินแดนทางภาคตะวันออกของยูเครน จะทำให้ยูเครนมีขีดความสามารถทางอาวุธยุทธศาสตร์อันน่าสะพรึงกลัวหรือไม่?

ในปี 2537 หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตไม่กี่ปี รัฐบาลยูเครนได้ตัดสินใจทำคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด ตามสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT) เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากชาติตะวันตก ส่วนฝูงบินทิ้งระเบิดขนาดหนักนั้น ทางรัฐบาลก็ไม่มีงบประมาณมากพอที่จะปฏิบัติการฝึกซ้อมเป็นประจำ และเมื่อเวลาผ่านไปการดูแลรักษา ซื้ออะไหล่สำรองก็ทำได้ยาก จนทำให้ตัดสินใจจอดทิ้งไว้เฉยๆ

...

จนสุดท้ายในปี 2542 รัฐบาลยูเครนจึงตัดสินใจเริ่มทยอยชำแหละซากเครื่องบินทิ้งระเบิดตู-160 ทำให้รัฐบาลรัสเซียตัดสินใจซื้อคืน 8 ลำ ในปีเดียวกัน เหลือเพียงลำสุดท้ายที่ยูเครนตัดสินใจ บริจาคให้พิพิธภัณฑ์เก็บไว้เป็นอนุสรณ์ ที่เมืองโปลตาวา

ดังนั้น ทั้งหมดจึงพอจะเป็นคำตอบได้ว่า ยูเครนไม่เหลืออาวุธสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างหัวรบนิวเคลียร์และเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดหนักอีกต่อไปแล้ว และเป็นที่มาของความพยายามขอความช่วยเหลือทางทหารจากชาติตะวันตกนั่นเอง.

ตุ๊ ปากเกร็ด