ขณะที่รัฐบาลทั่วโลกพยายามเร่งกระบวนการฉีดวัคซีนแก่ประชาชน ด้วยความวิตกกังวลจากการอุบัติของเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ตัวใหม่ “โอมิครอน” ที่เบื้องต้นค่อนข้างชัดเจนว่าแพร่ระบาดได้เร็วกว่าเชื้อกลายพันธุ์เดลตา ก็มีรายงานเช่นกันว่าวัคซีนจำนวนมากต้องเสียเปล่าโดยใช่เหตุ จากปัญหาการจัดส่งล่าช้า ไปจนถึงประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนไม่ถึงเป้าที่วางไว้

ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าวว่า ที่ไนจีเรียมีวัคซีนต้องถูกทิ้งไปเนื่องจากหมดอายุการใช้งานมากกว่า 1 ล้านโดส เป็นวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา ที่ได้รับบริจาคผ่านโครงการโคแวกซ์ (COVAX) บริหารจัดการโดยกลุ่มพันธมิตรวัคซีนกาวี (GAVI) และองค์การอนามัยโลก (WHO)

แหล่งข่าวผู้ไม่ขอเปิดเผยนามยังระบุด้วยว่า ปัญหาหลักๆที่พบคือกว่าวัคซีนจะมาถึงไนจีเรียก็เหลือเวลาใช้งานก่อนหมดอายุเพียง 4-6 สัปดาห์ และทางการไม่สามารถจัดสรรฉีดให้ประชาชนได้ทันเวลา อีกทั้งในระยะหลัง ปริมาณวัคซีนในตลาดโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศต่างๆในภูมิภาคแอฟริกาไม่มีขีดความสามารถมากพอ โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์ ขนส่ง กระจายสินค้า จึงทำให้วัคซีนที่ใกล้จะหมดอายุอยู่แล้วไปไม่ถึงทันเวลา จึงเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมไนจีเรียจึงมีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำมาก มีประชากรฉีดวัคซีนครบ 2 โดส ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ จากประชากรในประเทศทั้งหมดกว่า 200 ล้านคน

ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกแถลงการณ์ตอบคำถามของรอยเตอร์ว่า ได้มีการคาดการณ์ไว้แล้วว่าจะต้องมีวัคซีนที่เสียเปล่าจากโครงการและปัญหาเรื่องการจัดส่งล่าช้า ทำให้วัคซีนไปถึงที่หมายใกล้เวลาหมดอายุเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง แต่ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเพิ่มเติม ระบุเพียงว่า ช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา มีวัคซีนกว่า 800,000 โดส ที่เสี่ยงจะหมดอายุไปเสียก่อน แต่สุดท้ายก็กระจายฉีดได้ทันเวลา ส่วนสถิติของภูมิภาคแอฟริกาพบว่ามีเพียง 7.5 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 102 ล้านคน ที่ได้รับวัคซีนครบโดส

...

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานด้วยว่า ปัญหาวัคซีนเสียเปล่าก็เกิดขึ้นในยุโรปเช่นเดียวกัน อย่างเมื่อเดือน ม.ค. ต้นปี อังกฤษมีวัคซีนถูกทิ้งประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลฝรั่งเศสยอมรับว่าต้องทิ้งวัคซีนหมดอายุ แบ่งเป็นแอสตราเซเนกา 25 เปอร์เซ็นต์โมเดอร์นา 20 เปอร์เซ็นต์ และไฟเซอร์ 7 เปอร์เซ็นต์.