ว่ากันว่าโลกเข้าสู่ยุคใหม่ที่แทบจะไร้สงครามระหว่างประเทศ แต่การโจมตีทางไซเบอร์หรือการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตกลับเกิดขึ้นไม่หยุด ปีที่แล้วมีรายงานการโจมตีความปลอดภัยทางไซเบอร์ของหน่วยงานหลายแห่ง ทั้งสถาบันการศึกษา โรงพยาบาล ชีวิตประจำวันของผู้คน ซึ่งการโจมตีเหล่านี้กำลังเติบโตและซับซ้อนมากขึ้น
สหรัฐอเมริกาคือหนึ่งในชาติที่เผชิญกับวิกฤติความปลอดภัยทางไซเบอร์ และสะท้อนถึงปัญหาการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีการป้องกันระบบต่างๆที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ บริษัทไมโครซอฟท์เปิดตัวโครงการวิทยาลัยชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานผู้พิทักษ์โลกไซเบอร์ ซึ่งเป็นโครงการฝึกอบรมแก่นักศึกษาวิทยาลัยชุมชนเกี่ยวกับงานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีงาน 250,000 ตำแหน่งรองรับให้ได้ภายในปี พ.ศ.2568 ทั้งนี้ ข้อมูลของไซเบอร์ซีค (CyberSeek) ที่รวบรวมเกี่ยวกับการจ้างงานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ พบว่ามีตำแหน่งงานดังกล่าวเปิดรับ 464,000 ตำแหน่งทั่วประเทศ ฉะนั้น เป้าหมายของไมโครซอฟท์คือต้องการช่วยเติมเต็มตำแหน่งเหล่านั้นครึ่งหนึ่งด้วยโครงการนี้
โดยหลักสูตรความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่จะให้กับวิทยาลัยชุมชนของรัฐทั่วประเทศนั้น บริษัทไมโครซอฟท์จะจัดทำให้ฟรี แถมยังมอบทุนการศึกษาให้อีก 25,000 ทุน และไม่ใช่แค่ฝึกอบรมนักศึกษา แต่ยังมีการฝึกอบรมอาจารย์ในวิทยาลัยชุมชน 150 แห่งด้วยเช่นกัน
แบรด สมิธ ผู้บริหารไมโครซอฟท์เผยว่าผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเฉลี่ยจะมีรายได้ 105,800 ดอลลาร์ฯ หรือราว 3.5 ล้านบาท โครงการนี้ไม่เพียงแต่เป็นโอกาสดึงดูดผู้คนให้เข้ามาทำงานที่มีรายได้สูง แต่ยังเป็นวิธีทำให้มีความหลากหลายขึ้น โดยระบุว่าผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยทางไซเบอร์กว่า 80% เป็นคนผิวขาว โดย 80% เป็นผู้ชาย แต่ 40% ของนักศึกษาวิทยาลัยชุมชนเป็นคนผิวดำหรือสเปน โดย 57% ของนักศึกษาเป็นผู้หญิง
...
ในเดือน ส.ค. ไมโครซอฟท์เผยเตรียมลงทุน 20,000 ล้านดอลลาร์ฯ หรือ 666,000 ล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้าเพื่อเพิ่มการป้องกันให้ลูกค้า และอีก 150 ล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 5,000 ล้านบาท ช่วยหน่วยงานรัฐเพิ่มการคุ้มครองด้านสาธารณะ เป็นส่วนหนึ่งในโครงการของทำเนียบขาวที่ร่วมมือกับเอกชนเพื่อปรับปรุงความปลอดภัยทางไซเบอร์.
ภัค เศารยะ