- เยาวชนในหลายประเทศทั่วโลกสร้างเครือข่ายเคลื่อนไหวปกป้องสิ่งแวดล้อมโลก หลังจากมีเด็กทั่วโลกเสียชีวิต ล้มป่วย หิวโหย และต้องไร้ที่อยู่อาศัย จากผลกระทบความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ทั้งไฟป่า ภัยแล้ง พายุ น้ำท่วม และอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่รัฐบาลทั่วโลกไม่ได้แก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง
- บรรดาผู้นำจาก 196 ประเทศทั่วโลกจะไปร่วมประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ของอังกฤษ ที่จะมีขึ้นเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ตั้งแต่ 1 พ.ย.นี้ เพื่อพูดคุยถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยน นับจากการลงนามในความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในฝรั่งเศส เมื่อปี 2558
- สหประชาชาติออกรายงานล่าสุด เตือนว่า วิกฤติสภาพอากาศโลกได้เข้าสู่ระดับ "สีแดง" แล้ว ซึ่งภายในปี 2573 หรือในอีก 9 ปีข้างหน้า อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยจะสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ผลกระทบที่คาดว่าจะตามมาในไม่ช้านี้ ได้แก่ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเลวร้ายขึ้นอย่างมาก
สัปดาห์ที่ผ่านมา เยาวชนหลายร้อยคนทั่วโลกเป็นตัวแทนเข้าร่วมการประชุม "Youth4Climate" ที่จัดขึ้น 4 วัน ในกรุงมิลาน ของอิตาลี โดยเครือข่ายเยาวชนเคลื่อนไหวปกป้องโลก "Fridays for Future" ที่ก่อตั้งโดย "เกรต้า ธุนเบิร์ก" นักเคลื่อนไหวชาวสวีเดน และเครือข่ายของ "วาเนสซา นาคาเต" นักเคลื่อนไหวชาวยูกันดา และ "มาร์ตินา คอมปาเรลลี" นักเคลื่อนไหวชาวอิตาลี ซึ่งจัดขึ้น 4 สัปดาห์ก่อนจะถึงการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติ ครั้งที่ 26 (United Nations Climate Change Conference-COP26) จะเริ่มขึ้นในวันที่ 31 ต.ค.นี้
...
"เกรต้า ธุนเบิร์ก" กล่าวเปิดการประชุมด้วยสุนทรพจน์ที่กลายเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง "30 ปีแห่งบลา บลา บลา" ที่เธอบอกว่า บรรดาผู้นำโลกเอาแต่พูดกันว่าจะแก้ปัญหาโลกร้อน แต่ผ่านไปกว่า 3 ทศวรรษแล้วยังไม่มีอะไรจริงจัง เกรต้ากล่าวว่า ผู้นำโลกได้แต่พูดถึงการผลักดันแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อน การสร้างเศรษฐกิจสีเขียว การลดก๊าซคาร์บอน และคาร์บอนสมดุล แต่ทุกอย่างเป็นแค่คำพูด ไม่ได้นำไปสู่การลงมือทำ
เกรต้ากล่าวว่า ความหวังและความฝันของเยาวชนต้องสูญสลายไปกับคำสัญญาของบรรดาผู้นำเหล่านี้ และเตือนว่าเวลาของพวกเขาใกล้จะหมดแล้ว หลังจากเมื่อต้นเดือน ก.ย. คณะกรรมการขององค์การสหประชาชาติ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Intergovernmental Panel on Climate Change-IPCC) ออกรายงานล่าสุด เตือนว่า วิกฤติสภาพอากาศโลกได้เข้าสู่ระดับ "สีแดง" แล้ว ซึ่งภายในปี 2573 หรือในอีก 9 ปีข้างหน้า อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยจะสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ผลกระทบที่คาดว่าจะตามมาในไม่ช้านี้ ได้แก่ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเลวร้ายขึ้นอย่างมาก
ขณะเดียวกัน วาเนสซา นาคาเต นักเคลื่อนไหวชาวยูกันดาวัย 24 ปี กล่าวเรียกร้องผู้นำโลกเพิ่มเงินช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อน จากจำนวนเงิน 117,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีซึ่งไม่เพียงพอ เพราะไฟป่าครั้งใหญ่อย่างที่รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ และในประเทศกรีซ ตลอดจนน้ำท่วมใหญ่อย่างที่เยอรมนี และเบลเยียม มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั่วโลก ทุกประเทศในโลกกำลังมีความเสี่ยงที่จะเผชิญความสูญเสียจากภัยธรรมชาติ และความเป็นจริงแล้ว เงินที่ผู้นำโลกเคยประกาศว่าจะให้เมื่อปี 2563 จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครได้รับ
นาคาเตกล่าวว่า การประชุมระดับโลกทุกครั้งมีเพียงคำพูดสวยหรูแต่ว่างเปล่า ซึ่งตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะทำให้มันเกิดขึ้นจริง
ก่อนหน้านี้ เยาวชนทั่วโลกออกมาเดินขบวนประท้วงทั้งในเมืองมิลานของอิตาลี ในหลายประเทศของยุโรป แอฟริกา อเมริกาใต้ และเอเชีย เรียกร้องให้ผู้นำโลกแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง ผลักดันการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลก นับเป็นการเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
...
ผลเลือกตั้งเยอรมนีสะท้อนพลังคนรุ่นใหม่
หลายปีที่ผ่านมาได้เกิดเครือข่ายเยาวชนใส่ใจปัญหาโลกร้อนในยุโรป ที่สนับสนุนแนวทางของเกรต้า ธุนเบิร์ก โดยผลการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงพลังของเยาวชนที่ต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เมื่อพรรคกลางซ้าย "สังคมประชาธิปไตย" (Social Democrats-SPD) ชนะการเลือกตั้งไปอย่างเฉียดฉิว ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม ด้วยคะแนนเพียง 25.7% นำพรรคคู่แข่งสายอนุรักษนิยม "สหภาพประชาธิปไตยชาวคริสต์" (Christian Democrats-CDU) ของนางอังเกลา แมร์เคิล ซึ่งได้ 24.1% ไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ในขณะที่พรรคเล็กอย่าง "ประชาธิปไตยเสรี" (Free Democrats-FDP) ที่ประกาศผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจ และพรรคสิ่งแวดล้อม "กรีน" กลายเป็นขวัญใจและเป็นความหวังคนรุ่นใหม่ ทำคะแนนสูงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยพรรคกรีน ชนะเป็นลำดับ 3 ด้วยคะแนนเกือบ 15% และพรรค FDP ตามมาที่ 11.5%
ผลคะแนนของพรรคกรีน และ FDP ได้สะท้อนถึงพลังของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในเยอรมนีว่ากำลังต้องการการเปลี่ยนแปลง เมื่อเยาวชนชาวเยอรมันหันมาตระหนักถึงผลกระทบของปัญหาโลกร้อนมากขึ้น และสนับสนุนการเคลื่อนไหวของเครือข่าย "เกรต้า ธุนเบิร์ก" ให้ความสำคัญกับนโยบายลดโลกร้อนเป็นหลัก ในขณะที่พรรค FDP เน้นสื่อสารทางโซเชียลมีเดีย ประกาศนโยบายผลักดันการเพิ่มสวัสดิการบำนาญตามโมเดลของสวีเดน เป็นที่ถูกใจของคนรุ่นใหม่เช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ออกมาใช้สิทธิ์ครั้งแรก และคนอายุต่ำกว่า 24 ปี
...
นอร์เบิร์ท ชอเบิล นักสังคมวิทยาจากสถาบันวิจัยสังคมและการตลาดซีนัส กล่าวว่าตอนนี้เยาวชนคนรุ่นใหม่ในเยอรมนีเป็นพวกที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง การปรับเปลี่ยนทิศทางทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และตระหนักถึงอนาคต ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม Expeditive ที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เน้นปกป้องสิ่งแวดล้อม การพัฒนายั่งยืน การเสียสละเพื่อความเปลี่ยนแปลง และกลุ่ม Neo-Ecological ที่เน้นแนวทางการเปลี่ยนแปลงแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เน้นเรื่องการจัดการนวัตกรรมดิจิตัล และเทคโนโลยีที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง โดยทั้งสองกลุ่มต่างต้องการอนาคตที่ดีกว่า แตกต่างกันเพียงแค่แนวทางและวิธีการไปสู่จุดนั้น
ขณะที่กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลผสมอาจจะใช้เวลานานไปจนถึงเดือน ธ.ค. ซึ่งก็มีลุ้นว่าพรรค SPD จะชวนสองพรรคของคนรุ่นใหม่ที่ได้รวมกัน 210 ที่นั่ง ไปร่วมรัฐบาล มากกว่า CDU ที่ได้ 196 ที่นั่ง
เยาวชนส่งพลังแก้ปัญหาโลกร้อน
มหาวิทยาลัยบาธ ในอังกฤษ เผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับมุมมองของเยาวชนคนรุ่นใหม่ต่อปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ พบว่ากว่า 75% ของคนวัย 16-25 ปี จาก 10 ประเทศ มีความรู้สึกว่าอนาคตที่น่ากลัวกำลังรออยู่ โดยวัยรุ่นในฟิลิปปินส์ตระหนักถึงผลกระทบจากโลกร้อนมากที่สุด ตามมาด้วยบราซิล โปรตุเกส และอินเดีย
...
มิตซี โจแนล นักศึกษาชาวฟิลิปปินส์วัย 23 ปี กล่าวว่า ครอบครัวเธอต้องเผชิญผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่น มีน้ำท่วมรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นกลัวว่าวันหนึ่งเธออาจจะจมน้ำบนเตียงนอนของตัวเอง และเมื่อศึกษาเกี่ยวกับเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทำให้เธอรู้สึกว่ามีคนจำนวนมากที่กลัวต่อปัญหานี้ และกลัวผู้นำโลกที่ยังไม่แก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ต่อมาเมื่อปี 2561 เธอเห็นข่าวการประท้วงของ เกรต้า ธุนเบิร์ก จนนำไปสู่การจัดตั้งกลุ่มเคลื่อนไหว Fridays for Future หรือ FFF ทั่วโลก ทำให้เธอคิดว่าควรจะมีการรวบรวมกลุ่มเยาวชนฟิลิปปินส์ที่ตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนบ้าง เลยมีการตั้งกลุ่ม เยาวชนสนับสนุนการจัดการปัญหาสภาพอากาศในฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2562
โจแนลเป็นหนึ่งในเยาวชนกว่า 100 คนในกรุงมะนิลา และเป็นหนึ่งในกว่า 700,000 คน จาก 1,500 แห่งทั่วโลก ที่เข้าร่วมการประท้วงครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 24 ก.ย. เธอกล่าวว่า พลังเยาวชนมีอยู่ในทุกระดับชั้นของสังคม เป็นพลังสำคัญของโลก เพราะเมื่อคนกลุ่มนี้รวมตัวกันได้แล้ว ก็เหมือนรวมทั้งโลกเข้าด้วยกัน.
ผู้เขียน : เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์
ข้อมูล : BBC, CNN, IPCC Report