• ฟุมิโอะ คิชิดะ ชนะการเลือกตั้งประธานพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตยของญี่ปุ่น ได้เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศ แทนที่นายโยชิฮิเดะ สุกะ

  • นายคิชิดะ มาจากตระกูลนักการเมือง เป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดหลังยุคสงคราม แต่ถูกครหาว่า เป็นคนไม่เด็ดขาด

  • นายคิชิดะ จะมารับช่วงแก้ปัญหามากมายในประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่บอบช้ำจากโควิด-19 โดยประกาศนโยบายออกแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าหลายสิบล้านล้านเยน

ฟุมิโอะ คิชิดะ คือผู้ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศญี่ปุ่น หลังจากเขาได้รับชัยชนะในการลงคะแนนเสียงภายในรอบที่ 2 ของพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย (LDP) เมื่อวันพุธที่ผ่านมา

เขาจะรับตำแหน่งแทนที่นายโยชิฮิเดะ สุกะ ผู้ประกาศไม่ลงสมัครชิงเก้าอี้นายกฯ สมัยที่ 2 หลังจากคะแนนนิยมของเขาดิ่งเหว ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์นายกรัฐมนตรี ในการดำรงตำแหน่งเพียงปีแรกเท่านั้น เนื่องจากความล้มเหลวในการแก้ปัญหาหลายอย่างในประเทศ โดยเฉพาะการระบาดของไวรัสโควิด-19

แน่นอนว่าการสานต่องานของนายสุกะไม่ใช่เรื่องง่าย นายคิชิดะต้องรับช่วงแก้ปัญหาเศรษฐกิจซบเซาเพราะการระบาดของโควิด ซึ่งยังคงเป็นวิกฤติด้านสาธารณสุขของประเทศ นอกจากนั้นยังต้องรับมือแรกกดดันจากนโยบายทางการเมืองของจีนที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของญี่ปุ่นในรอบ 1 ปี กล่าวหลังได้รับชัยชนะว่า “วิกฤติแห่งชาติของเรายังดำเนินต่อไป เราต้องทำงานหนักเรื่องการตอบสนองต่อไวรัสโคโรนา ด้วยความเด็ดเดี่ยว และเราต้องออกแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าหลายสิบล้านล้านเยนภายในสิ้นปีนี้”

นับเป็นการประกาศเป้าหมายใหญ่ครั้งแรกของคิชิดะ แต่เขาจะทำตามที่พูดได้หรือไม่ต้องผ่านบทพิสูจน์คือการเลือกตั้งใหญ่ ที่จะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนนี้เสียก่อน

...

ฟุมิโอะ คิชิดะ ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น
ฟุมิโอะ คิชิดะ ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น

ฟุมิโอะ คิชิดะ ชนะการเลือกตั้งภายในพรรคได้เป็นว่าที่นายกฯ คนใหม่

ผลที่ออกมานับว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเหนือความคาดหมาย เนื่องจากอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศอย่างคิชิดะ เอาชนะนาย ทาโร่ โคโนะ รัฐมนตรีกระทรวงวัคซีนซึ่งได้รับความนิยมสูงในการลงคะแนนรอบแรกอย่างเฉียดฉิวที่ 256 ต่อ 255 เสียง ขณะที่ผู้สมัครอีก 2 คนซึ่งเป็นผู้หญิงทั้งคู่ได้แก่ นางซานาเอะ ทาคาอิชิ ฝ่ายอนุรักษนิยมขั้นสุด และนางเซอิโกะ โนดะ ฝ่ายเสรีนิยมพ่ายแพ้

แต่เนื่องจากผลที่ออกมาไม่มีผู้ชนะเด็ดขาด ทำให้ต้องจัดการลงคะแนนเสียงรอบที่ 2 ซึ่งคราวนี้ผู้สนับสนุนนางทาคาอิชิ หันไปลงคะแนนให้กับนายอิชิดะ ช่วยให้เขาได้รับชัยชนะไปในท้ายที่สุด ได้เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีต่อจากนายโยชิฮิเดะ สุกะ ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง


ฟุมิโอะ คิชิดะ เป็นใคร?

ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 100 ของประเทศญี่ปุ่นรายนี้ มาจากครอบครัวนักการเมืองที่ทั้งปู่และบิดา ต่างเป็นสมาชิกรัฐสภาด้วยกันทั้งคู่ ส่วนตัวนายคิชิดะนั้น ใช้ชีวิตในวัยเด็กที่นิวยอร์กนาน 3 ปี ช่วงที่บิดารับตำแหน่งสำคัญในกระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าโรงเรียนรัฐในเมืองควีนส์ ก่อนจะกลับมายังญี่ปุ่น

หลังจากเรียนจบมหาวิทยา วาเซดะ ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันชั้นนำของญี่ปุ่น นายคิชิดะไปทำงานธนาคารเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะเริ่มเส้นทางการเมืองเหมือนคนอื่นๆ ในตระกูล และได้รับเลือกเข้าสู่สภาเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2536

นายคิชิดะยังได้รับการจารึกชื่อเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด (6 ปีนับตั้งแต่ปี 2555-2560) ในยุคหลังสงครามโลก และเป็นผู้ช่วยจัดแจงให้เกิดการมาเยือนครั้งประวัติศาสตร์ของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ที่อนุสรณ์สถานสันติภาพฮิโรชิมา เมื่อปี 2559 ด้วย

นายคิชิดะเป็น ส.ส.จากเมืองฮิโรชิมา ซึ่งถูกโจมตีด้วยระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เขากลับเป็นหนึ่งในผู้ที่ปกป้องนโยบายไม่เข้าร่วมสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ เพราะเชื่อว่า ญี่ปุ่นจำเป็นต้องพึ่งพาขยายการป้องปรามทางนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ

นักวิเคราะห์คาดว่า บุคลิกที่เข้ากับคนอื่นได้ง่ายของนายคิชิดะ ทำให้เขาได้รับแรงสนับสนุนจากคนในพรรคมากกว่าคนหัวแข็งอย่างนายโคโนะ แต่ขณะเดียวกัน เขาก็ถูกมองว่าเป็นคนไม่เด็ดขาด ซึ่งอาจส่งผลให้ถูกอิทธิพลจากแกนนำภายในพรรคโดยเฉพาะกลุ่มชาตินิยมที่เคยหนุนหลังนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ครอบงำการตัดสินใจให้มีนโยบายทางทหารที่แข็งกร้าวขึ้น ชะลอการปฏิรูปด้านความเท่าเทียม ซึ่งขัดกับเสียงส่วนใหญ่ของสังคม

โยชิฮิเดะ สุกะ ผู้กำลังจะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น
โยชิฮิเดะ สุกะ ผู้กำลังจะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น

...

อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้?

นายคิชิดะจะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีในการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในวันจันทร์ที่ 4 ต.ค.นี้ ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ ซึ่งคาดว่าหลังจากนั้น เขาจะประกาศรายชื่อสมาชิกคณะรัฐมนตรีของตัวเองออกมา โดยคนใหญ่คนโตของพรรค LDP จะรักษาตำแหน่งเดิมเอาไว้ได้ เช่น รองนายกรัฐมนตรี ทาโร่ อาโสะ, รัฐมนตรีต่างประเทศ โทชิมิตสุ โมเตกิ และ รัฐมนตรีกลาโหม โนบุโอะ คิชิ น้องชายของนายอาเบะ

ส่วนนางทาคาอิชิ กับนางโนดะ อาจยังได้เป็นสมาชิก ครม.เพื่อรักษาภาพลักษณ์การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ เนื่องจากทั้งคู่เป็นผู้หญิงเพียง 2 คนใน ครม.ของนายสุกะ ส่วนนายโคโนะก็อาจรักษาตำแหน่งใน ครม.ไว้ได้เช่นกัน

หลังจากจัดตั้งรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีเสร็จแล้ว นายคิชิดะก็ต้องเผชิญความท้าทายใหม่ทันที ด้วยการนำพาพรรคของเขาเข้าสู่การเลือกตั้งแห่งชาติ ซึ่งต้องจัดขึ้นก่อนวันที่ 28 พ.ย.นี้ และหากได้รับชัยชนะ เขาก็ต้องผ่าประเทศฝ่าฟันวิกฤติต่างๆ ทางการระบาดของโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากนั้น

ชินโสะ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งลาออกด้วยปัญหาสุขภาพเมื่อเดือนกันยายนปีก่อน
ชินโสะ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งลาออกด้วยปัญหาสุขภาพเมื่อเดือนกันยายนปีก่อน

...

นโยบายของคิชิดะ

หลักสำคัญในนโยบายของนายคิชิดะที่เขาเสนอคือ การลดช่องว่างของรายได้ และการออกแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 30 ล้านล้านเยน

“การปฏิรูปงบประมาณคือทิศทางที่ในที่สุดแล้วเราต้องมุ่งไป แต่เราจะไม่พยายามถมการขาดดุลของประเทศด้วยการขึ้นภาษีในทันที” นายคิชิดะกล่าวเมื่อวันเสาร์ที่ 25 ก.ย. โดยย้ำถึงความจำเป็นในการกระจายรายได้ในหมู่ครัวเรือนชาวญี่ปุ่น ซึ่งตรงข้ามกับแผนเศรษฐกิจของอดีตนายกรัฐมนตรีอาเบะ ซึ่งเน้นส่งเสริมการลงทุนของบริษัทเอกชน ทำให้ความไม่เท่าเทียมทางรายได้ในสังคมญี่ปุ่นกว้างขึ้นอีก

ในด้านนโยบายต่างประเทศ คาดกันว่าจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก โดยเขาน่าจะเจริญรอยตามนโยบายของนายสุกะและนายอาเบะ ย้ำจุดยืนของญี่ปุ่นในเรื่องการเปิดและการเดินเรือเสรีในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกกลุ่ม ‘ควอด’ (QUAD) ประกอบด้วยญี่ปุ่น, สหรัฐฯ, ออสเตรเลีย และอินเดีย ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อคานอำนาจกับจีน

นอกจากนั้น นายคิชิดะอาจทำตามข้อเสนอของนายโคโนะ อย่างการสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ หรือหาทางเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มพันธมิตรแบ่งปันข้อมูลข่าวกรอง หรือ ‘Five Eyes’ ด้วยแต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังคงเกรงใจประเทศจีนอยู่ เพราะแดนมังกรนับเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของพวกเขา




ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : theconversation, indianexpress