มาเลเซียออกมาแสดงความกังวล ว่าข้อตกลงความมั่นคงระหว่าง ออสเตรเลีย, สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ อาจกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

สำนักข่าว แชนเนลนิวส์เอเชีย รายงานว่า หลังจากออสเตรเลีย, สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ประกาศทำสนธิสัญญาความร่วมมือด้านความมั่นคงร่วมกัน ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า ‘AUKUS’ (ออกัส) ซึ่งรวมถึงการช่วยออสเตรเลียสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ 8 ลำ ทำให้หลายประเทศออกมาแสดงความกังวล ซึ่งล่าสุดคือมาเลเซีย

สำนักงานนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย (PMO) ออกแถลงการณ์ในวันเสาร์ที่ 18 ก.ย. 2564 ระบุว่า “สนธิสัญญานี้จะกระตุ้นให้มหาอำนาจอื่นๆ เคลื่อนไหวในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก อย่างแข็งกร้าวมากขึ้น โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้” พวกเขายังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการยั่วยุและการแข่งขันสะสมอาวุธในภูมิภาค

“ในฐานะประเทศในกลุ่มอาเซียน มาเลเซียยึดมั่นในหลักการคงสภาพอาเซียนให้เป็น ‘เขตแห่งสันติ, เสรีภาพ และเป็นกลาง’ (ZOFPAN)” แถลงการณ์ระบุ

PMO เผยด้วยว่า นายกรัฐมนตรี อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ แห่งมาเลเซีย ได้รับโทรศัพท์จากนายกรัฐมนตรี สกอตต์ มอร์ริสัน แห่งออสเตรเลีย ในวันศุกร์ที่ผ่านมา เพื่อแจ้งเรื่องสนธิสัญญา AUKUS และอธิบายรายละเอียด

ระหว่างการสนทนา นายอิสมาอิล ซาบรี ได้ย้ำความสำคัญของการเคารพในจุดยืนของมาเลเซีย เรื่องการบริหารจัดการเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ในน่านน้ำของพวกเขา ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 (UNCLOS) และสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANWFZ)

...

แถลงการณ์ของ PMO ไม่ได้ระบุถึงประเทศจีน แต่นโยบายต่างประเทศของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกนั้น มีความแข็งกร้าวขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเรื่องการอ้างอธิปไตยพื้นที่ในทะเลจีนใต้ซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากร ทำให้เกิดความขัดแย้งกับหลายประเทศ รวมถึงมาเลเซียด้วย

ซึ่งในเรื่องดังกล่าว นายอิสมาอิล ซาบรี กับนายมอร์ริสัน เห็นชอบที่จะฟื้นพันธสัญญาในการรักษาความสงบ, ความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก “มาเลเซียและออสเตรเลียเห็นชอบที่จะยกระดับความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหลายแง่มุม รวมทั้งเรื่องการป้องกันด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน”.