ฝรั่งเศสเรียกทูตประจำสหรัฐฯ และออสเตรเลียกลับประเทศเพื่อปรึกษาหารือ และเป็นการแสดงท่าทีประท้วงทางการทูต จากกรณีที่ออสเตรเลียหันไปเข้ากลุ่ม Aukus ฉีกสัญญาซื้อเทคโนโลยีเรือดำน้ำฝรั่งเศส
วานนี้ (17 ก.ย.) ทางการฝรั่งเศสเรียกตัวเอกอัคราชทูตประจำสหรัฐฯ และออสเตรเลียกลับประเทศเพื่อปรึกษาหารือ และเป็นการแสดงท่าทีประท้วงทางการทูต หลังจากที่การตั้งกลุ่มพันธมิตร "ออคัส" (Aukus) ของสหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย ทำให้ออสเตรเลียตัดสินใจหันไปรับการสนับสนุนเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จากสหรัฐฯ และฉีกข้อตกลงซื้อเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังงานดีเซลของฝรั่งเศส มูลค่า 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท
ก่อนหน้านี้นายฌอง อีฟส์ เลอ เดรียน รัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศสออกมาระบุว่า การที่ออสเตรเลียยกเลิกข้อตกลงกับฝรั่งเศส เป็นพฤติกรรมที่ไม่อาจยอมรับได้ โดยบอกว่าฝรั่งเศสได้รับแจ้งเรื่องกลุ่มออคัส เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังการออกมาแถลงของผู้นำทั้ง 3 ประเทศ และบอกว่าการตัดสินใจตอบโต้ด้วยการเรียกทูตกลับประเทศ เป็นไปตามคำสั่งของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง
แหล่งข่าวทางการทูตในกรุงปารีสเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีมาครง ได้รับหนังสือจากนายกรัฐมนตรีสก็อต มอร์ริสิน ของออสเตรเลีย แจ้งเรื่องการยกเลิกข้อตกลงเรือดำน้ำกับฝรั่งเศส เมื่อเช้าวันพุธ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา เพียง 1 วันก่อนที่ผู้นำสหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลียจะออกมาการประกาศสนธิสัญญา Aukus

...
ความเคลื่อนไหวตอบโต้ของทางการฝรั่งเศสด้วยการเรียกทูตกลับประเทศแบบนี้ เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อน เนื่องจากที่ผ่านมาสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ต่างเป็นประเทศพันธมิตรที่สำคัญของฝรั่งเศส โดยบรรดานักการทูตต่างมองว่า ครั้งนี้ถือเป็นวิกฤติความสัมพันธ์ครั้งร้ายแรงระหว่างฝรั่งเศสกับสหรัฐฯ และฝรั่งเศสกับออสเตรเลีย
ด้านทำเนียบขาวสหรัฐฯ แถลงว่า รู้สึกเสียใจต่อการตัดสินใจของฝรั่งเศส และจะเดินหน้าปรึกษาหารือและดำเนินการแก้ปัญหาขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างสองประเทศต่อไป.
ที่มา Aljazeera