สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆ เช่น กบ กิ้งก่า หรือพืชบางชนิด มีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วเป็นพิเศษ โดยมีการเก็บพลังงานและปล่อยพลังงานอย่างรวดเร็วผ่านกลไกสลักแบบกับดักหนู ทว่า มีสัตว์ชนิดหนึ่งที่นักชีววิทยาหลงใหลมาช้านาน นั่นคือกั้งตั๊กแตนตำข้าว (Mantis shrimps) ที่มีการเคลื่อนไหวรวดเร็วและอันตรายต่อศัตรูของมัน
กั้งตั๊กแตนตำข้าวจัดว่ามีพลังหมัดสุดแข็งแกร่งที่สุดชนิดหนึ่ง อวัยวะที่เหมือนไม้กระบองเร่งความเร็วได้เร็วกว่ากระสุนปืน แค่โจมตีเพียงครั้งเดียวก็สามารถหักก้ามปู หรือทะลวงเปลือกหอยโข่งได้ สู้กับปลาหมึกยักษ์ก็ชนะ ล่าสุด ทีมวิจัยด้านหุ่นยนต์ วิศวกร นักชีววิทยา นำโดย นักวิจัยจากวิทยาลัยวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ ประยุกต์ ฮาร์วาร์ด จอห์น เอ.พอลสัน ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า กั้งไม่มีกล้ามเนื้อพิเศษเหมือนสัตว์จำพวกครัสเตเชียนอื่นๆ ดังนั้น การที่พวกมันสร้างการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วจะต้องมีกลไกทางกลที่ทำให้เกิดอัตราเร่งสูง ทีมพบว่าในกั้งตั๊กแตนตำข้าว มีโครงสร้างเล็กๆ 2 ชิ้นฝังอยู่ในเอ็นกล้ามเนื้อที่เรียกว่า sclerites ทำหน้าที่เป็นกลไกสลักของส่วนต่อท้ายแบบกลไกสปริงทั่วไป เมื่อปลดสลักทางกายภาพออก สปริงจะปล่อยพลังงานที่เก็บไว้ทันที
ทีมจึงจำลองกลไกการออกหมัดชกของกั้งตั๊กแตนตำข้าวและสร้างหุ่นยนต์ขนาด 1.5 กรัม ที่เลียนแบบการเคลื่อนไหวของกั้งตั๊กแตนตำข้าว แม้หมัดหุ่นยนต์จะยังเร็วเทียบกับหมัดกั้งตั๊กแตนไม่ได้ แต่การวิจัยนี้ก็ได้ให้ความกระจ่างถึงชีววิทยาของสัตว์กลุ่มครัสเตเชียน แถมปูทางสู่การพัฒนาอุปกรณ์เพื่อหุ่นยนต์ขนาดเล็กที่ทรงพลัง.
Credit : Greg Freeburn and Emma Steinhardt/Harvard SEAS
...