จีนยอมรับ เกิดความเสียหายขึ้นที่แท่งเชื้อเพลิงของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในมณฑลกวางตุ้ง แต่ยืนยันว่าเป็นเรื่องปกติ และไม่มีกัมมันตภาพรังสีรั่วไหล
เมื่อวันพุธที่ 16 มิ.ย. 2564 รัฐบาลจีนออกแถลงการณ์ชี้แจ้ง หลังก่อนหน้านี้สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นของสหรัฐฯ รายงานว่า รัฐบาลอเมริกันกำลังประเมินรายงานที่ว่ามีการรั่วไหลเกิดขึ้นที่โรงงานไฟฟ้า ‘ไท่ซาน’ ขณะที่ ‘EDF Energy’ บริษัทพลังงานของฝรั่งเศส ซึ่งร่วมบริหารจัดการโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ระบุเมื่อวันจันทร์ว่า มีปัญหากับแท่งเชื้อเพลิง ทำให้เกิดแก๊สสะสม ซึ่งตอนนี้กำลังถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ
ซีเอ็นเอ็น ระบุว่า EDF Energy ได้เตือนรัฐบาลสหรัฐฯ ว่า เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพลังงานนิวเคลียร์ของจีนกำลังเพิ่มขีดจำกัดของระดับรังสีที่ได้รับอนุญาต บริเวณพื้นที่ภายนอกของโรงงาน เพื่อป้องกันไม่ให้โรงงานแห่งนี้ต้องถูกปิด
อย่างไรก็ตาม ในวันพุธ กระทรวงสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาของประเทศจีน ออกแถลงการณ์โต้แย้งว่า รายงานของซีเอ็นเอ็นไม่ถูกต้อง โดยพวกเขายอมรับว่าเกิดความเสียหายขึ้นที่แท่งเชื้อเพลิงจริง แต่สำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์แห่งชาติ (NNSA) กำลังทบทวนการใช้งานก๊าซมีตระกูล (noble gas) ในเตาปฏิกรณ์ ไม่เกี่ยวข้องกับการตรวจจับรังสีภายนอกโรงงานนิวเคลียร์
กระทรวงสิ่งแวดล้อมฯ ระบุอีกว่า เจ้าหน้าที่พบระดับรังสีเพิ่มสูงขึ้นที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หน่วยที่ 1 ของโรงไฟฟ้าไท่ซาน แต่ยังอยู่ในค่าที่ปลอดภัยสำหรับการปฏิบัติการ ส่วนสาเหตุของการเพิ่มขึ้นเป็นเพราะ เกิดความเสียหายที่วัสดุสำหรับห่อหุ้มแท่งเชื้อเพลิงจำนวนไม่ถึง 0.01% ของแท่งเชื้อเพลิงทั้งหมด 60,000 แท่งในเตาปฏิกรณ์เครื่องนี้ ซึ่งการที่แท่งเชื้อเพลิงเสียหายระหว่างปฏิบัติการของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นเรื่องปกติและหลีกเลี่ยงไม่ได้.
...
ที่มา : BBC