• กีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 เดินหน้าจัดการแข่งขันตามกำหนด ในวันที่ 23 กรกฎาคม-8 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกยังไม่คลี่คลาย และญี่ปุ่นเองยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละหลายพันคน
  • ประชาชนชาวญี่ปุ่น 43 เปอร์เซ็นต์คิดว่าควร ‘ยกเลิก’ การจัดการแข่งขัน และอีก 40 เปอร์เซ็นต์บอกว่าควร ‘เลื่อน’ ฝั่งสปอนเซอร์ 47 ราย เสนอให้เลื่อนออกไปจัดช่วงปลายปี
  • เหตุใดคณะผู้จัดการแข่งขันจึงดึงดันจัดการแข่งขันในสถานการณ์ที่เสี่ยงและเต็มไปด้วยเสียงคัดค้านเช่นนี้ ใครบ้างที่มีสิทธิ์ตัดสินใจยกเลิกการแข่งขัน จะเกิดอะไรขึ้นหากรัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจยกเลิกการแข่งขันโดยที่ฝ่ายอื่นๆ ไม่เห็นด้วย

แม้มีเสียงเรียกร้องจากประชาชนและผู้สนับสนุนการจัดการแข่งขันอยากให้ยกเลิกการจัดการแข่งขัน หรืออย่างน้อยก็เลื่อนออกไปก่อน แต่คณะผู้จัดการแข่งขันยังยืนยันจะเดินหน้าจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 ในวันที่ 23 กรกฎาคม-8 สิงหาคม 2021 ท่ามกลางสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกยังไม่คลี่คลาย และญี่ปุ่นเองยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละหลายพันคน


การสำรวจความคิดเห็นประชาชนครั้งล่าสุดในวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2021 โดย The Asahi Shimbun ผลการสำรวจออกมาว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 43 เปอร์เซ็นต์คิดว่าควร ‘ยกเลิก’ การจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และอีก 40 เปอร์เซ็นต์บอกว่าควร ‘เลื่อน’ การจัดการแข่งขันออกไปอีกครั้ง


ต่อมาบรรณาธิการสำนักข่าว The Asahi Shimbun หนึ่งในผู้สนับสนุนระดับ official partner ของโอลิมปิก โตเกียว 2020 ก็ได้เขียนบทบรรณาธิการ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประเมินสถานการณ์ให้ดี และตัดสินใจไม่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในช่วงฤดูร้อนนี้

“สถานการณ์ปัจจุบันไม่สามารถทำให้ทุกคนรู้สึกปลอดภัยได้ และนั่นคือความจริงที่โชคร้าย แน่นอนว่ามีความเป็นไปได้ที่ทุกอย่างจะออกมาดี แต่การจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจำเป็นต้องเตรียมการลดความเสี่ยงหลายชั้น ซึ่งจะต้องทำงานอย่างถูกต้อง ถ้าปัญหาเกิดขึ้นเพราะการตัดสินใจที่รีบร้อนทั้งที่รู้ว่าการเตรียมการยังไม่ดีเพียงพอ ใครควรรับผิดชอบ หรือใครสามารถรับผิดชอบได้? ผู้จัดงานต้องเข้าใจว่าการเดิมพันไม่ใช่ทางเลือก” ส่วนหนึ่งจากบทบรรณาธิการของ The Asahi Shimbun สำนักข่าวชั้นนำของญี่ปุ่น

เสียงที่น่าจะมีพลังที่สุดน่าจะเป็นเสียงของผู้สนับสนุนการจัดการแข่งขันอย่างเป็นทางการซึ่งมีมากกว่า 80 ราย โดยแบ่งระดับการสนับสนุนเป็นหลายระดับ ประกอบด้วย The Worldwide Olympic Partners จำนวน 14 ราย Tokyo 2020 Olympic Gold Partners จำนวน 15 ราย Tokyo 2020 Olympic Official Partners จำนวน 32 ราย และ Tokyo 2020 Olympic Official Supporters จำนวน 20 ราย

มาซาโยชิ ซง (Masayoshi Son) ผู้บริหาร SoftBank Group เป็นคนหนึ่งที่เรียกร้องให้เลื่อน หรือยกเลิกการจัดการแข่งขันโตเกียว 2020 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา เขาทวีตข้อความว่า “ตอนนี้ผู้คนมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ต้องการให้เลื่อนหรือยกเลิกการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ใครจะบังคับใช้สิทธิอะไร?”

ถัดมาอีกวันเขาทวีตอีกว่า “คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) มีสิทธิ์ตัดสินใจที่จะจัดการแข่งขันหรือไม่? มีการพูดถึงบทลงโทษครั้งใหญ่ (หากต้องเลื่อนหรือยกเลิก) แต่ในญี่ปุ่นที่ซึ่งการฉีดวัคซีนล่าช้า นักกีฬาโอลิมปิก 100,000 คนและผู้ที่เกี่ยวข้องจาก 200 ประเทศกำลังมาญี่ปุ่นแล้วแพร่เชื้อกลายพันธุ์ ตามมาด้วยการประกาศจำนวนผู้เสียชีวิตและสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณในการจัดการปัญหากรณีดังกล่าว จีดีพีประเทศลดลง และประชาชนต้องอดทนอยู่กับสถานการณ์เช่นนี้ ผมคิดว่าเราจะสูญเสียมากกว่า”

ฮิโรชิ มิกิทานิ (Hiroshi Mikitani) ซีอีโอของ Rakuten ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซสัญชาติญี่ปุ่นเรียกการจัดการแข่งขันที่กำลังเกิดขึ้นว่า “ภารกิจฆ่าตัวตาย” เขากล่าวกับ CNN ว่า “ความเสี่ยงนั้นใหญ่เกินไป และ … ผมต่อต้านการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียวในปีนี้”

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน Financial Times รายงานอ้างแหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทผู้สนับสนุนการจัดการแข่งขันโอลิมปิก โตเกียว 2020 ที่ให้ข้อมูลว่า ผู้สนับสนุนรายใหญ่จำนวน 47 บริษัทที่จ่ายเงินสนับสนุนรวมกันกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 93,200 ล้านบาท) ได้จัดทำข้อเสนอเรียกร้องให้เลื่อนการจัดการแข่งขันออกไปจัดในช่วงปลายปี 2021 เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะมีผู้เข้าชมการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เม็ดเงินที่สปอนเซอร์ลงทุนไปกับการสนับสนุนการจัดการแข่งขันและแคมเปญการตลาดได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่า

ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทหนึ่งที่เป็นสปอนเซอร์งานแสดงความเห็นว่า ข้อเสนอแนะที่เสนอไปนั้นคงไม่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้จัดงานเท่าไรนัก เพราะดูเหมือนผู้จัดงานแน่วแน่ที่จะจัดการแข่งขันตามกำหนด แต่ในมุมมองของผู้สนับสนุนมองว่า การเลื่อนการจัดการแข่งขันออกไปจะสมเหตุสมผลกว่า เพราะเมื่อผู้คนได้ฉีดวัคซีนกันเป็นจำนวนมากขึ้น การต่อต้านจากสาธารณชนก็อาจจะลดลง

ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้สนับสนุนอีกรายหนึ่งกล่าวว่า ข้อเสนอแนะให้เลื่อนจัดการแข่งขันมาพร้อมกับผลประโยชน์ในทางปฏิบัติ ถ้าผู้จัดการแข่งขันยังยืนยันที่จะจัดการแข่งขันตามกำหนดการเดิม บริษัทของเขาจะไม่มอบเงินสนับสนุนการแข่งขันอีก แต่ถ้าเลื่อนออกไปจัดการแข่งขันในช่วงปลายปีจึงจะพิจารณาจ่ายเงินสนับสนุนเพิ่มเติม

“ถ้าเลื่อนการแข่งขันออกไปเพียงไม่กี่เดือน จะมีคนได้รับการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ความไม่แน่นอนจะน้อยลง และแน่นอนว่าในฐานะผู้สนับสนุน เราจะพิจารณาเพิ่มเงินเข้าไป”

ถึงแม้จะมีเสียงคัดค้านการจัดการแข่งขัน และมีคำแนะนำให้เลื่อนมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน แต่คณะกรรมการจัดงานโตเกียว 2020 ยืนยันหลายต่อหลายครั้งว่าจะไม่เลื่อนและไม่ยกเลิก

เมื่อวันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน 2021 คณะกรรมการจัดการแข่งขันโตเกียว 2020 ยืนยันอีกครั้งว่า พันธมิตรการจัดการแข่งขันโอลิมปิก ทั้งรัฐบาลญี่ปุ่น รัฐบาลกรุงโตเกียว คณะกรรมการจัดการแข่งขันโตเกียว 2020 คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) และคณะกรรมการพาราลิมปิกสากล (IPC) มุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในฤดูร้อนนี้

“โตเกียว 2020 หวังว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จะฟื้นตัวเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และเราจะทำงานต่อไปเพื่อมอบเกมที่ปลอดภัยในฤดูร้อนนี้”

ในอีกด้านหนึ่งก็มีผู้สนับสนุนบางส่วนที่ต้องการให้เดินหน้าจัดการแข่งขันตามกำหนดการในเดือนกรกฎาคมนี้ ผู้สนับสนุนบางรายบอกว่า ต้องการให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเริ่มขึ้นตามกำหนด และรัฐบาลควรเร่งฉีดวัคซีน แต่ก็ควรเตรียมแผนสำรองหากต้องเลื่อนการจัดการแข่งขันออกไปอีก 2-3 เดือนด้วย

ในรายงานของ BBC เคนโกะ ซากุราดะ (Kengo Sakurada) นายกสมาคมผู้บริหารธุรกิจแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Association of Corporate Executives) กล่าวว่า รัฐบาลควรกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ และยกเลิกการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกหากญี่ปุ่นทำได้ไม่ถึงเป้าหมาย

โอลิมปิก โตเกียว 2020 เป็นการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่มีเงินสนับสนุนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เฉพาะเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ภายในประเทศญี่ปุ่นก็เป็นจำนวน 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอาจจะได้รับเงินสนับสนุนเพิ่มขึ้น หากไม่ต้องอยู่ในช่วงเวลายากลำบากและเผชิญกับแรงกดดันถึงขนาดที่เรียกกันว่า ‘sponsor crisis’

แม้ว่ามีเหตุผลมากมายให้เลื่อนหรือยกเลิกการจัดการแข่งขันโอลิมปิก โตเกียว 2020 และโยชิฮิเดะ ซูกะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนัก แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ไม่มีอำนาจตัดสินใจยกเลิกการจัดการแข่งขัน เพราะอำนาจตัดสินใจอยู่ที่ IOC แต่เพียงผู้เดียว

ถ้าหากว่ารัฐบาลญี่ปุ่นทนนิ่งเฉยต่อความเห็นประชาชนและเอกชนที่สนับสนุนการจัดงานไม่ไหว แล้วตัดสินใจยกเลิกการแข่งขันโดยที่ IOC ไม่เห็นด้วย ญี่ปุ่นก็จะต้องถูก IOC ฟ้องร้อง และต้องรับผิดชอบงบประมาณการจัดงานทั้งหมดที่ตั้งงบไว้ 12,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 391,750 ล้านบาท) แต่ค่าใช้จ่ายจริงอาจมากกว่านั้นเป็นสองเท่า

มีการคาดการณ์ความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยสถาบันวิจัยโนมูระที่คาดการณ์ว่า ญี่ปุ่นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 1,800,000 ล้านเยน (ประมาณ 509,932 ล้านบาท) หากยกเลิกการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แต่สถาบันวิจัยโนมูระก็เตือนด้วยว่า ญี่ปุ่นอาจได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่านั้น หากยังเดินหน้าจัดการแข่งขันแล้วเกิดการแพร่ระบาดพุ่งสูงขึ้น

นี่จึงเป็นสถานการณ์ยากลำบากที่รัฐบาลญี่ปุ่นกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ขณะที่ IOC ยืนกรานจะจัดการแข่งขันต่อไป เพราะถึงแม้จะเก็บรายได้จากผู้เข้าชมในสนามไม่ได้เหมือนในสถานการณ์ปกติ แต่ก็ยังมีรายได้ก้อนโตจากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่คิดเป็น 73 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดที่ IOC จะได้รับจากการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกแต่ละครั้ง อย่างในช่วงปี 2013-2016 ทาง IOC รับรายได้รวม 5,700 ดอลลาร์สหรัฐ จากการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว โซชิ 2014 และโอลิมปิกฤดูร้อน ริโอ 2016

อ้างอิง:

asahi.com
abcnews.go.com
japantimes.co.jp
ft.com
bbc.com
wsj.com
olympics.com

...