• จีนสร้างประวัติศาสตร์เป็นชาติที่ 2 ของโลกต่อจากสหรัฐฯ ที่ส่งยานสำรวจลงดาวอังคารได้สำเร็จ
  • ยานเทียนเวิ่น-1 และยานสำรวจจู้หรงเผยภาพบนดาวอังคาร 'ประทับรอยเท้า'ความสำเร็จในโครงการสำรวจดาวอังคารครั้งแรกของจีน
  • จีนเผยความมุ่งมั่นในการสำรวจดาวอังคาร ที่นักวิทยาศาสตร์ถือเป็นดาวเคราะห์ฝาแฝดกับโลก เพื่ออนาคตที่ดีกว่าและทางรอดระยะยาวของมนุษยชาติ ขณะที่โลกทุกวันนี้กำลังเผชิญภัยพิบัติสิ่งแวดล้อม

จีนกำลังเป็นชาติที่มุ่งมั่นเอาจริงเอาจังกับโครงการสำรวจอวกาศชาติหนึ่งของโลกและประสบความสำเร็จรองลงมาจากองค์การบริหารการบินและอวกาศของสหรัฐฯ (นาซา) เลยก็ว่าได้

...

ล่าสุด จีนประกาศความสำเร็จด้วยความปลาบปลื้มภาคภูมิใจอย่างที่สุด เมื่อยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 สามารถลงจอดบนดาวอังคารทางตอนใต้ของบริเวณที่ราบกว้างใหญ่ ที่เรียกว่า 'ยูโทเปีย พลานิเทีย' ได้สำเร็จเมื่อ 15 พ.ค. 64 จากนั้น ยานสำรวจจู้หรงจะลงไปสัมผัสพื้นผิวดาวเคราะห์แดงดวงนี้ ในวันที่ 22 พ.ค.64

จีนสร้างประวัติศาสตร์ กลายเป็นชาติที่ 2 ของโลกที่ส่งยานอวกาศและยานสำรวจไปลงดาวอังคารได้สำเร็จ ต่อจากสหรัฐฯ เนื่องจากถึงแม้อดีตสหภาพโซเวียต หรือรัสเซียในปัจจุบัน ได้เป็นชาติแรกที่ส่งยานสำรวจได้สัมผัสพื้นผิวดาวอังคารในปี 2514 ก็ตาม ทว่าเพียงไม่กี่วินาที การติดต่อระหว่างยานสำรวจ หรือยานแลนด์เดอร์กับศูนย์ควบคุมได้ขาดหายไปแทบจะทันที และถึงแม้ต่อมาจะมีอีกหลายชาติพยายามจะส่งยานสำรวจของชาติตนไปลงสัมผัสพื้นดินดาวอังคาร แต่ก็ต้องพบกับความล้มเหลว

'เทียนเวิ่น' เป็นชื่อโครงการสำรวจดาวอังคารของจีน โดยนำชื่อมาจากบทกวีโบราณที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งได้รับการยกย่องชื่นชมจนมาถึงวันนี้ อีกทั้งคำว่า เทียนเวิ่น ยังมีความหมายอย่างคมคายว่า 'คำถามต่อสวรรค์' ซึ่งสามารถบอกเป็นนัยได้ถึงความมุ่งมั่นของจีนในการพยายามหาคำตอบของคำถามเกี่ยวกับดาวอังคาร ที่มีหลักฐานยืนยันว่าเคยมีน้ำ นำไปสู่การสันนิษฐานของเหล่านักวิทยาศาสตร์ถึงความเป็นไปได้ว่าอาจเคยมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวเคราะห์แดงดวงนี้

วันเริ่มต้นของโครงการสำรวจอวกาศของจีนมาถึง เมื่อองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ได้ปล่อยยานเทียนเวิ่น-1 ซึ่งประกอบด้วยยานโคจร ยานลงจอดและยานสำรวจพื้นผิวไปยังดาวอังคาร ทะยานขึ้นสู่อวกาศ โดยจรวดลองมาร์ช 5 จากฐานปล่อยจรวดเหวินชาง บนเกาะไห่หนาน หรือไหหลำ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563

ยานเทียนเวิ่นได้ใช้เวลานับ 7 เดือนในการเดินทางจากโลกไปยังดาวอังคาร ที่ห่างไกลราว 550 ล้านกิโลเมตร และสามารถเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารได้สำเร็จในวันที่ 10 ก.พ. 64 ตามหลังยานโฮป (Hope) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ไปติดๆ เนื่องจากยานโฮปได้เข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารในวันที่ 9 ก.พ.64 

องค์การอวกาศแห่งชาติจีนแถลงส่งยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 ไปดาวอังคาร
องค์การอวกาศแห่งชาติจีนแถลงส่งยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 ไปดาวอังคาร

เป้าหมายภารกิจของยานเทียนเวิ่น-1

ภารกิจที่ท้าทายที่สุดของการส่งยานเทียนเวิ่น-1 ไปยังดาวอังคาร คือการทำให้ยานลงจอดได้แบบนุ่มนวลในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นขั้นตอนอัตโนมัติที่ใช้เวลานาน7-8 นาที โดยยานลงจอดจะใช้รูปทรงตามหลักอากาศพลศาสตร์ การปล่อยร่ม และจรวดถอยหลัง (retrorocket) เพื่อชะลอความเร็วและรับน้ำหนักกระแทกในการลงจอด

การวิจัยก่อนหน้าพบว่า ภูมิภาคที่ค่อนข้างเรียบทางตอนใต้ของยูโรเปีย พลานิเทีย ซึ่งเป็นที่ราบขนาดใหญ่ อาจเป็นขอบของมหาสมุทรหรือทะเลโบราณในประวัตศาสตร์ยุคแรกของดาวอังคาร โดยนักวิทยาศาสตร์จีนคาดหวังว่าจะพบหลักฐานการมีอยู่ของน้ำ น้ำแข็งบนดาวอังคารเพิ่มขึ้น

ยานโคจรของเทียนเวิ่น 1 มีอุปกรณ์ทางวิทยาศาตร์ติดตั้ง 7 ชนิด ได้แก่ กล้องสำรวจระยะไกล 2 ตัว เรดาร์สำรวจชั้นดินจากวงโคจรดาวอังคาร สเปกโตรมิเตอร์วัดแร่ธาตุดาวอังคาร เครื่องวัดความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กของดาวอังคาร เครื่องวัดอนุภาคที่เป็นกลางและไอออนของดาวอังคาร และเครื่องวัดอนุภาคพลังงานของดาวอังคาร

...

ในขณะที่ เป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ของยานเทียนเวิ่น-1 ได้แก่

- ทำแผนที่สัณฐานวิทยาและโครงสร้างธรณีวิทยา-การตรวจสอบลักษณะของดินบนพื้นผิวและการกระจายตัวของน้ำ น้ำแข็ง

- การวิเคราะห์องค์ประกอบทางวัตถุของพื้นผิว

- การวัดชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ลักษณะของสภาพภูมิอากาศบนดาวอังคาร รวมถึงการทำความเข้าใจพื้นที่ทางกายภาพและโครงสร้างภายในดาวอังคาร

...

อีกหนึ่งหลักชัยในโครงการอวกาศของจีน

องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน ได้ตั้งชื่อยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำแรกของจีน ว่า จู้หรง (Zhurong) ตามชื่อเทพแห่งไฟในตำนานโบราณ ซึ่งพ้องกับ ‘หัวซิ่ง’ (Huoxing) ชื่อดาวอังคารในภาษาจีน ที่แปลว่า ดาวเคราะห์แห่งไฟ ในวันเสาร์ที่ 24 เมษายน ซึ่งตรงกับวันอวกาศ (Space Day) ของจีน

‘ไฟนำความอบอุ่นและความสว่างมาสู่บรรพบุรุษของมนุษย์ และไฟเป็นสิ่งที่จุดประกายอารยธรรมมนุษย์ การตั้งชื่อยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำแรกของจีนตามเทพเจ้าแห่งไฟ จึงหมายถึงการจุดไฟแห่งการสำรวจดาวเคราะห์ของจีน’ อู๋ เหยี่ยนหัว รองผู้อำนวยการองค์การอวกาศแห่งชาติจีนกล่าวถึงที่มาของยานจู้หรง

ที่ผ่านมา จีนได้ตั้งชื่อยานอวกาศหลายลำ รวมถึงเทียนเวิ่น ฉางเอ๋อ (Chang’e) และเป่ยโต่ว (Beidou) ตามวัฒนธรรมของจีนดั้งเดิม สะท้อนจิตวิญญาณการสำรวจและความเชื่อมั่นทางวัฒนธรรมของจีน

ความสำเร็จในการส่งยานเทียนเวิ่น-1 ไปลงจอดบนดาวอังคารและยานสำรวจจู้หรงได้ลงไปสัมผัสพื้นผิวดาวอังคารเป็นครั้งแรกและขับเคลื่อนบนดาวอังคาร ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากสหรัฐฯ ที่สามารถนำยานอวกาศลงจอดและขับเคลื่อนยานสำรวจพื้นผิวบนดาวอังคาร

ยานสำรวจจู้หรงได้เคลื่อนตัวลงตามทางลาดของยานลงจอดอย่างเชื่องช้าและแตะพื้นผิวดาวอังคารในเวลา 10.40 น. ของวันเสาร์ที่ 22 พ.ค. ตามเวลาปักกิ่ง ซึ่งถือเป็นการประทับรอยเท้าแห่งความสำเร็จก้าวแรกบนดาวเคราะห์แดงดวงนี้เป็นครั้งแรกของจีน

ยานสำรวจจู้หรง เป็นยานสำรวจพื้นผิวขนาด 6 ล้อ น้ำหนัก 240 กิโลกรัม ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ มีรูปลักษณ์คล้ายผีเสื้อน้ำเงิน ติดตั้งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์หลายอย่าง มีอายุการใช้งานอย่างน้อย 90 วันดาวอังคาร หรือราว 3 เดือนบนโลกนับเป็นยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำแรกที่มีระบบกันสั่นสะเทือนแบบแอกทีฟ ช่วยให้ยานขับเคลื่อนเหมือนตัวหนอนบนพื้นผิวที่สลับซับซ้อนจากดินทรายร่วนซุยและก้อนหินที่กระจายตัวหนาแน่น

...

นอกจากนั้น ยานจู้หรงยังสามารถเคลื่อนตัวด้านข้างเหมือนปู แต่ละล้อหมุนเลี้ยวได้ทุกทิศทุกทาง ช่วยหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางและปีนไต่ทางลาดชัน ส่วนแผงโซลาร์เซลล์ถูกออกแบบพิเศษให้ปรับเอียงตามแสงอาทิตย์ และป้องกันฝุ่นจากพายุทรายเกาะสะสม

ยานจู้หรงยังมีบานหน้าต่างกักเก็บความร้อน ช่วยดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์ตอนกลางวันและปลดปล่อยความร้อนตอนกลางคืน เพื่อช่วยให้ยานทั้งลำอยู่รอดพ้นอุณหภูมิต่ำในตอนกลางคืนที่อาจลดลงจนถึงระดับ -100 องศาเซลเซียส

สำหรับภารกิจของยานจู้หรง ในการสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร คือการบันทึกภูมิทัศน์ดาวอังคารด้วยภาพสามมิติความละเอียดสูง วิเคราะห์ส่วนประกอบของพื้นผิวดาว ตรวจจับโครงสร้างและสนามแม่เหล็กใต้พื้นผิว ค้นหาร่องรอยน้ำแข็ง และสังเกตสภาพทางอุตุนิยมวิทยา

เผยภาพแห่งความสำเร็จ

วันที่ 7 มิ.ย.64 องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน ได้เผยแพร่ภาพที่บันทึกโดยกล้องความละเอียดสูงติดตั้งบนยานโคจรเทียนเวิ่น-1 เมื่อเวลา 18.00 น. ของวันที่ 2 มิ.ย. ตามเวลาปักกิ่ง


จากนั้นวันที่ 11 มิ.ย. องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีนได้เผยแพร่ภาพชุดใหม่ จากยานสำรวจจู้หรง ในงานพิธีหนึ่งในกรุงปักกิ่ง ซึ่งนับเป็นการบอกถึงความสำเร็จโดยสมบูรณ์ของภารกิจสำรวจดาวอังคารครั้งแรกของจีน

ภาพชุดนี้ประกอบด้วยภาพมุมกว้างของพื้นที่ลงจอด ภูมิประเทศของดาวอังคาร และภาพเซลฟี่ของยานจู้หรง พร้อมแพลตฟอร์มหรือแท่นลงจอดที่สร้างความประทับใจอย่างที่สุดให้แก่ชาวจีนทั่วโลกคือ มีภาพที่แสดงให้เห็นธงชาติจีนกางออกจากแพลตฟอร์มลงจอด ซึ่งภาพนี้บันทึกโดยยานสำรวจจู้หรง ขณะเคลื่อนตัวราว 6 เมตรไปทางทิศตะวันออก 60 องศาจากด้านใต้ของแพลตฟอร์มลงจอด

"จีนจะเผยแพร่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในเวลาที่เหมาะสม เพื่อแบ่งปันผลสำเร็จของการพัฒนาการสำรวจอวกาศของประเทศต่อมนุษยชาติ" จางเค่อเจี่ยน ผู้อำนวยการองค์การอวกาศแห่งชาติจีนกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ


จีนกับความมุ่งมั่นโครงการอวกาศ ส่งยานสำรวจไปดาวอังคาร

องค์การอวกาศแห่งชาติจีน เปิดเผยถึงความมุ่งมั่นในโครงการสำรวจดาวอังคารว่า บรรดานักวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมาและปัจจุบันมีความหลงใหลในการค้นหาความจริงเกี่ยวกับดาวอังคารมานานแล้ว เนื่องจากโลกและดาวอังคารมีสภาพภูมิศาสตร์ที่คล้ายคลึงกัน ทั้งมีอุณหภูมิที่อบอุ่น มีชั้นบรรยากาศที่หนาและชื้นรอบพื้นผิวของโลกและดาวอังคาร จนเหมือนกับเป็นดาวเคราะห์ฝาแฝด ที่เติบโตคนละที่ จึงทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์มีความสนใจอย่างจริงจังที่จะสำรวจดาวอังคารที่เสมือนเป็นดาวพี่น้องกับโลกของเรามาโดยตลอด เพื่อต้องการไขปริศนาหาความลับต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิต

ทุกๆ 26 เดือน ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ในระยะใกล้โลกที่สุด เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์บนโลกส่งยานอวกาศเดินทางระหว่างโลกไปยังดาวอังคาร ในระยะห่างกว่า 550 ล้านกิโลเมตร

นับตั้งแต่นักวิทยาศาสตร์เริ่มภารกิจส่งยานอวกาศไปดาวอังคารครั้งแรกในปี 2503 จนมาถึงวันนี้ มียานอวกาศสามารถเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารแล้ว 15 ลำ แต่ในจำนวนนี้มีเพียง 8 ลำ ที่สามารถลงจอดบนดาวอังคารและดำเนินการสำรวจดาวอังคาร ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จแค่เพียง 50% เท่านั้น

การเดินทางของจีนไปยังดาวอังคาร มีจุดประสงค์เพื่อต้องการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ ในขณะที่โลกของเรากำลังประสบกับภัยพิบัติในหลายๆ เรื่อง ทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังลดน้อยลง จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ภาวะโลกร้อน ด้วยเหตุนี้เป้าหมายของการสำรวจดาวอังคาร คือการรักษาทางรอดในระยะยาวและการพัฒนาของมนุษยชาติ

เรียบเรียงโดย : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์

ที่มา : Newyorktimes, Xinhua, Xinhuathai