ซากฟอสซิลชิ้นเล็กชิ้นน้อยบางครั้งก็เปรียบเป็นกุญแจไขประตูให้ได้ค้นพบเรื่องราวยิ่งใหญ่ ล่าสุดทีมวิจัยนำโดย แอนดรูว์ ซอมเมอร์วิลล์ นักมานุษยวิทยาที่เชี่ยวชาญด้านภาษาและวัฒนธรรมโลก จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐไอโอวา ในสหรัฐอเมริกา ได้ค้นพบเกี่ยวกับลำดับเหตุการณ์ของมนุษย์กลุ่มแรกที่เดินทางมายังถิ่นอเมริกาเหนือ
หนึ่งในหลักฐานที่นำมาศึกษาก็คือซากกระดูกกระต่ายและกวางหลายตัวที่รวบรวมมาจากถ้ำค็อกซ์แคทลัน ในหุบเขาแห่งเตฮัวกัน ของเม็กซิโก ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ซากกระดูกจากใต้พื้นถ้ำมีอายุ 33,448-28,279 ปี ซอมเมอร์วิลล์เชื่อว่าการค้นพบนี้ช่วยให้นักวิจัยมีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับลำดับเหตุการณ์ของภูมิภาค และชี้ว่ามนุษย์กลุ่มแรกอาจมาถึงอเมริกาเหนือเมื่อ 30,000 ปีก่อน เร็วกว่าที่คิดไว้ในตอนแรกเกือบ 20,000 ปี เนื่องจากมีการถกเถียงมายาวนานถึงทฤษฎีที่ว่ามนุษย์กลุ่มแรกข้ามสะพานแผ่นดินแบริ่งแลนด์ที่เชื่อมพื้นที่ไซบีเรียตะวันออกกับรัฐอลาสกาของสหรัฐอเมริกาในยุคน้ำแข็ง โดยข้อมูลเดิมระบุว่าพวกเขาข้ามมาทวีปอเมริกาเมื่อ 13,000 ปีก่อน
ทั้งนี้ หากมนุษย์มาถึงอเมริกาเหนือเมื่อกว่า 30,000 ปีที่แล้ว นั่นหมายความว่ามีมนุษย์อยู่ในอเมริกาเหนือแล้วก่อนช่วงยุคน้ำแข็งใหญ่สุดครั้งสุดท้าย (Last Glacial Maximum) ซึ่งพื้นที่ขนาดใหญ่ของทวีปอเมริกาเหนือจะไม่เอื้ออำนวยต่อประชากรมนุษย์ ธารน้ำแข็งจะปิดกั้นเส้นทางเดินบนบกที่มาจากอลาสกาและแคนาดาโดยสิ้นเชิง เป็นไปได้ว่ามนุษย์กลุ่มแรกนี้อาจเดินทางมายังอเมริกาโดยทางเรือและเลาะไปตามชายฝั่งแปซิฟิก.
ภาพ Credit : Andrew Somerville, lowa State University