เกือบ 40 ปีที่แล้วนักวิทยาศาสตร์ได้ทำนายการมีอยู่ของฝนฮีเลียมในดาวเคราะห์เป็นครั้งแรก ซึ่งประกอบด้วยไฮโดรเจนและฮีเลียมเป็นหลัก นั่นก็คือดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ แต่การจะบรรลุเงื่อนไขต่างๆ ในการทดลองที่จำเป็น เพื่อตรวจสอบสมมติฐานการทำนายก็ยังไม่สามารถทำได้จนถึงเดี๋ยวนี้
แต่เมื่อเร็วๆนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์นำโดยห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอว์เรนซ์ลิเวอร์มอร์ และนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ในสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยหลักฐานการทดลองที่จะช่วยสนับสนุนการทำนายถึงฝนฮีเลียมว่าเป็นเรื่องจริงและสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ จากการทดลองที่ห้องปฏิบัติการสำหรับพลังงานเลเซอร์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งโรเชสเตอร์ ในรัฐนิวยอร์ก โดยใช้หัวเพชร 2 บีบอัดส่วนผสมของไฮโดรเจนและฮีเลียมด้วยแรงดันประมาณ 40,000 เท่าของชั้นบรรยากาศของโลก จากนั้นก็ใช้เครื่องฉายแสงเลเซอร์ขนาดใหญ่เพื่อปล่อยคลื่นกระแทกรุนแรงให้บีบอัดไฮโดรเจนและฮีเลียมจนมีแรงกดดันขั้นสุดท้ายพร้อมให้ความร้อนสูงถึงหลายพันองศา ซึ่งการบีบอัดแบบคงที่และแรงกระแทกที่ขับเคลื่อนด้วยเลเซอร์ ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ไปถึงสภาวะที่เทียบได้กับการอยู่ภายในของดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์
การทดลองนี้เปิดเผยหลักฐานสำหรับการคาดการณ์ที่ยาวนาน และนี่คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ด้านดาวเคราะห์สามารถถอดรหัสได้ว่า ดาวเคราะห์เหล่านี้ก่อตัวและวิวัฒนาการอย่างไร ซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่อีกขั้นคือการทำความเข้าใจว่าระบบสุริยะก่อตัวขึ้นอย่างไร.
Credit : NASA/JPL/Space Science Institute