องค์การอนามัยโลกตั้งชื่อโควิดกลายพันธ์ุใหม่ โดยใช้อักษรกรีกแทนเรียกตามชื่อประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสื่อมเสียต่อชื่อเสียง
สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า ในวันที่ 31 พ.ค. 2564 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศระบบใหม่ในการตั้งชื่อไวรัสโควิด-19 กลายพันธ์ุ โดยหลังจากนี้เป็นต้นไปจะใช้ตัวอักษรกรีกในการอ้างถึงการกลายพันธ์ุที่พบเป็นครั้งแรกในประเทศต่างๆ เช่น อังกฤษ, แอฟริกาใต้ และอินเดีย แทน
ภายใต้ระบบใหม่ดังกล่าว ไวรัสกลายพันธ์ุ ‘B.1.1.7’ ที่พบเป็นครั้งแรกในอังกฤษจะถูกเรียกว่า ‘อัลฟา’ ส่วนสายพันธ์ุ ‘B.1.351’ ซึ่งพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้เรียกว่า ‘เบตา’ ขณะที่ไวรัส ‘P1’ ในบราซิลเรียกว่า ‘แกมมา’ และไวรัส ‘B.1.617.2’ ในอินเดียเรียกว่า ‘เดลตา’
WHO ระบุอีกว่า การทำเช่นนี้จะช่วยให้การหารือต่างๆ ทำได้ง่ายยิ่งขึ้น และยังช่วยขจัดการตีตราที่มาจากชื่อด้วย
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ WHO เกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากรัฐบาลอินเดียออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่สื่อต่างๆ เรียกไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ุ B.1.617.2 ซึ่งพบเป็นครั้งแรกในแดนภารตะเมื่อเดือนตุลาคมปีก่อนว่า โควิดสายพันธ์ุอินเดีย
น.ส.มาเรีย ฟาน แคร์คอฟ หัวหน้าทีมเทคนิคไวรัสโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ตัวอักษรกรีกเหล่านี้จะไม่ถูกใช้แทนที่ชื่อทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่แล้ว เช่น B.1.1.7 และหากพบไวรัสกลายพันธ์ุมากกว่า 24 สายพันธ์ุ ตัวอักษรกรีกจะไม่พอใช้ ซึ่งจะมีการประกาศระบบตั้งชื่อใหม่อีกครั้ง.