• การรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ของ พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ล้มรัฐบาลพลเรือนของพม่า ทำให้ค่าเงินลดต่ำลงอยู่ที่ 1,329 จั๊ตต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ผ่านมาครบ 100 วันหลังรัฐประหาร ตัวเลขค่าเงินที่ย่ำแย่กว่าเดิม โดยอยู่ที่ 1,564 จั๊ตต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปัจจัยหลักคือ ประชาชนร่วมกันคว่ำบาตรธุรกิจของกองทัพ และถอนเงินจั๊ตจากธนาคารไปซื้อเงินดอลลาร์ ทำให้ค่าเงินจั๊ตตกลง
  • สภาวะการเมืองหลังการรัฐประหาร และโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจของพม่าย่ำแย่ การคาดการณ์เลวร้ายที่สุดคือ 25 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศจะอยู่ใต้เส้นความยากจนภายในปีหน้า

ค่าเงินเป็นปรอทวัดความป่วยไข้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญตัวหนึ่ง และวิกฤติทางการเงินมักจะนำมาซึ่งวิกฤตการณ์อื่นๆ ได้เสมอ ค่าเงินจั๊ตของพม่าสูญค่าไปแล้ว 20 เปอร์เซ็นต์

นับแต่ นายพลมิน อ่อง หล่าย ทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้การนำของ ออง ซาน ซูจี ค่าเงินจั๊ตพม่าลดต่ำลงจาก 1,329 จั๊ตต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อมีการยึดอำนาจวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 มาอยู่ที่ 1,564 จั๊ต เมื่อตอนครบ 100 วันของการรัฐประหารในวันที่ 11 พฤษภาคม

ปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าเงินจั๊ตของพม่าสูญค่ามากขนาดนี้มาจากเรื่องทางการเมืองล้วนๆ เพราะเหตุที่ประชาชนพม่าพากันใช้อารยะขัดขืนคว่ำบาตรธุรกิจของกองทัพ ถอนเงินจั๊ตจากธนาคารไปซื้อเงินดอลลาร์

ผลในทางจิตวิทยาคือทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในสกุลเงินท้องถิ่น ผลในทางความเป็นจริงคือ ปริมาณเงินจั๊ตมากกว่าความต้องการ ค่าของมันจึงตกลงเมื่อเปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีความต้องการมากขึ้น

ธนาคารกลางของพม่าเข้าแทรกแซงด้วยการขายเงินดอลลาร์ออกมาในตลาด 2 ครั้งนับแต่ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนจนถึงปัจจุบันรวมแล้วเป็นเงิน 18 ล้านดอลลาร์ เพื่อพยุงค่าเงินจั๊ต แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้ผลมากนัก เงินจั๊ตแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในระยะสั้นๆ แล้วก็ร่วงลงมาอีก บรรดาธนาคารพาณิชย์ทั้งของกองทัพ ของรัฐและเอกชน ได้รับคำสั่งให้ระดมเงินฝากในสกุลเงินจั๊ตให้มากขึ้นเพื่อหวังจะลดปริมาณเงินในตลาด แต่ก็ยังไม่ได้ผลอยู่ดี เพราะประชาชนส่วนหนึ่งไม่มีความเชื่อมั่นในระบบธนาคารเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

หลังรัฐประหาร มีภาพประชาชนพม่าเข้าคิวหน้าตู้เอทีเอ็มยาวเหยียดเพื่อรอถอนเงินสด เนื่องจากไม่ไว้ใจในสถานการณ์เศรษฐกิจการเมือง และมีรายงานข่าวว่าธนาคารหลายแห่งต้องปิดทำการบางสาขา เนื่องจากพนักงานผละงานประท้วงการรัฐประหาร

การสำรวจที่ทำร่วมกันของหอการค้าต่างประเทศ 10 แห่งในพม่าพบว่า 13 เปอร์เซ็นต์ของ 372 บริษัทธุรกิจ ทั้งของพม่าเองและบริษัทต่างชาติที่ตอบแบบสอบถาม ได้หยุดดำเนินการนับแต่การรัฐประหาร เพราะเหตุที่ระบบการเงินการธนาคารของพม่าเป็นอัมพาต ระบบอินเทอร์เน็ตถูกตัด และพนักงานพากันประท้วง

รายงานล่าสุดของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ที่ออกมาเมื่อ 30 เมษายน ชี้ว่า ระบบการเงินที่เป็นอัมพาต ซ้ำเติมด้วยมาตรการปิดการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตของรัฐบาล ส่งผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินเดือนพนักงาน ไปจนถึงธุรกรรมทางการเงินเพื่อซื้อขายสินค้าในระบบธุรกิจก็ต้องประสบปัญหาอย่างมาก ซัพพลายเชนทั้งหลายก็ได้รับผลกระทบมากเนื่องจากคนงานในระบบขนส่ง ไม่ว่ารถบรรทุก รถไฟ ท่าเรือ พากันหยุดงานประท้วง

ยิ่งไปกว่านั้น คาดว่าการส่งออกของพม่าซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญน่าจะลดลงประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้

...

แสดงผลกระทบของการรัฐประหารต่ออัตราความยากจน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ
แสดงผลกระทบของการรัฐประหารต่ออัตราความยากจน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ

รายงานของสหประชาชาติฉบับดังกล่าวระบุว่า สภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองหลังการรัฐประหาร และปัญหาการระบาดของโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจของพม่าย่ำแย่ถึงขนาดที่ประชาชนประมาณ 12 ล้านคนต้องพบกับความยากจนภายในปีนี้และหากสถานการณ์ยังคงเลวร้ายแบบนี้ต่อไป ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเป็น 25 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศจะอยู่ใต้เส้นความยากจนภายในปีหน้า (เส้นความยากจนของพม่าที่กำหนดโดยธนาคารโลกคือประชาชนมีรายได้น้อยกว่า 1,590 จั๊ตต่อวัน อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 32 บาท)


รายงานภาวะเศรษฐกิจของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย ที่ออกมาเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม คาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า สถานการณ์ทางการเมืองและโรคระบาดโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจของพม่าหดตัวติดลบมากถึง 9.8 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ นับว่าเป็นหนึ่งเดียวในอาเซียนที่จะมีเศรษฐกิจติดลบ

โครงการอาหารโลก (World Food Program) ระบุว่า ภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจและการผลิตที่ตกต่ำลง ส่งผลให้ราคาอาหารในพม่าพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สวนทางกับกำลังซื้อของประชาชนที่ลดต่ำลงอย่างมาก จนเกรงว่าอาจจะเกิดภาวะอดอยากขึ้นในประเทศได้ในเร็วๆนี้

รายงานของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติฉบับเดียวกันชี้ชัดว่า “โดยรวมแล้วเศรษฐกิจพม่ากำลังยืนอยู่บนปากเหวแห่งหายนะ และประเทศนี้เสี่ยงที่จะกลายเป็นรัฐที่ล้มเหลวแห่งเอเชีย”

ชั่วระยะเวลา 3 เดือนหลังการรัฐประหาร (นับถึงวันที่ 12 พฤษภาคม) กองทัพพม่าสังหารประชาชนของตัวเองไปแล้ว 785 คนและจับกุมผู้ต่อต้านอีกเกือบ 5,000 คน ประกอบกับการรบพุ่งกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐกะเหรี่ยง คะฉิ่น และฉาน ในห้วงที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนอีกหลายพันคนต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่น และอีกจำนวนมากมายมหาศาลที่ต้องพบกับความยากลำบากในชีวิตอันเนื่องมาจากความตึงเครียดทางการเมืองและความสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป

ดูเหมือนว่า มิน อ่อง หล่าย ผู้นำการรัฐประหารและผู้นำสูงสุดของสภาบริหารแห่งรัฐ จะยังไม่ตระหนักว่าตัวเองได้พาประเทศไปยืนที่ปากเหวแล้ว

นักการทูตประเทศอาเซียนเปิดเผยกับผู้เขียนว่า ในการสนทนากับผู้นำอาเซียนและการพบปะกับ คริสติน เบอร์เกอร์เนอร์ ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติในกิจการพม่า เมื่อวันที่ 24 เมษายน ระหว่างที่ไปประชุมอาเซียนที่กรุงจาการ์ตานั้น นายพลของพม่ายังแสดงความมั่นใจว่าเขาจะควบคุมสถานการณ์ในประเทศได้ ทุกอย่างจะคืนสู่ปกติในเร็ววัน ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่เขาจะไม่ให้ความร่วมมือใดๆ กับกลุ่มอาเซียนและสหประชาชาติในการแก้ไขวิกฤตการณ์ในตอนนี้ บางทีกว่าเขารู้ตัวพม่าคงตกลงไปอยู่ห้วงเหวเสียแล้ว