การสบตามีบทบาทพื้นฐานในการสื่อสารและความสัมพันธ์ของมนุษย์ นอกจากนี้ยังเป็นการสื่อสารกับสัตว์เช่นกันโดยเฉพาะสุนัข เมื่อเร็วๆนี้ นักพฤติกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเอิตเวิช โลรานด์ ในฮังการี รายงานผลวิจัยเกี่ยวกับลักษณะอัตโนมัติที่ส่งผลต่อความสามารถของสุนัขในการสบตากับมนุษย์

นักพฤติกรรมศาสตร์เผยว่า สุนัขปรับตัวให้เข้ากับมนุษย์ได้ดีโดยเฉพาะ และการสื่อสารก็มีบทบาทสำคัญ พวกมันไวต่อทิศทางการจ้องมองของมนุษย์ การสบตากับเจ้าของจะทำให้ฮอร์โมนออกซิโตซิน (Oxytocin) ที่เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมองมีระดับเพิ่มขึ้น ทว่าสุนัขแต่ละตัวก็มีแนวโน้มที่จะสบตาไม่เท่ากัน เนื่องจากความแตกต่างด้านกายวิภาคของดวงตา หน้าที่ดั้งเดิมของสายพันธุ์ การถูกฝึก อายุ และบุคลิกลักษณะ สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลจนส่งผลต่อแนวโน้มในการสบตา

นักพฤติกรรมศาสตร์ได้วิจัยสุนัข 100 ตัวจาก 30 ครอบครัว โดยวัดความยาวและความกว้างของศีรษะสุนัข เพราะสิ่งนี้เกี่ยวข้องกับการมองเห็นของสุนัขนั่นเอง ผลวิจัยพบว่ายิ่งจมูกของสุนัขสั้นเท่าไหร่ก็ยิ่งสบตากับมนุษย์ได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะสุนัขหน้าสั้นอย่างพันธุ์บ็อกเซอร์, บูลด็อก, ปั๊ก มีแนวโน้มว่าจะเห็นใบหน้ามนุษย์ได้คมชัดขึ้นเพราะมีเรตินาแบบพิเศษ สุนัขหน้าสั้นจึงมีการสบตากับมนุษย์มากกว่า แต่เป็นไปได้ว่า เจ้าของจะจ้องมองสุนัขของตนบ่อยขึ้นเช่นกัน เนื่องจากลักษณะใบหน้าของสุนัขคล้ายกับเด็กเล็กๆ ทำให้มนุษย์มักจ้องมอง.