แพทย์อินเดียพบผู้ป่วยโควิดที่หายดีแล้วหรืออยู่ระหว่างพักฟื้นมีภาวะแทรกซ้อนจาก "เชื้อรามรณะ" มากขึ้น ทั้งที่เมื่อก่อนเชื้อราตัวนี้พบได้ยากมาก แต่มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 50%

เมื่อวันที่ 9 พ.ค. เว็บไซต์ข่าว BBC รายงานว่า ดร.อักษัย นาอีร์ จักษุแพทย์แห่งโรงพยาบาลในนครมุมไบ ของอินเดีย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 2 ในอินเดีย แพทย์ได้พบว่ามีผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายดีแล้ว ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างพักฟื้น และผู้ป่วยโรคเบาหวานติดเชื้อโควิด-19 มีการติดเชื้อรา "มิวคอร์ไมโคซิส" (mucormycosis) ซึ่งเป็นเชื้อราที่พบได้ยาก แต่เป็นอันตรายร้ายแรง เป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้น

โดยการติดเชื้อรานี้มักส่งผลต่อโพรงจมูก ดวงตา และสมอง ซึ่งเชื้อรามีการแพร่เชื้ออย่างรวดเร็ว อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 50% ส่วนสาเหตุเชื่อว่าการติดเชื้อรา "มิวคอร์ไมโคซิส" มาจากการที่ร่างกายถูกกระตุ้นจากการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อาการวิกฤติ เนื่องจากสเตียรอยด์ช่วยลดการอักเสบของปอดผู้ป่วยโควิด แต่จะไปทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง

ดร.นาอีร์ เปิดเผยว่า เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยประมาณ 40 ราย เกิดอาการติดเชื้อรา "มิวคอร์ไมโคซิส" หลายคนเป็นผู้ป่วยเบาหวานที่หายจากโควิด-19 และพักฟื้นอยู่ที่บ้าน ในจำนวนนี้ 11 คน ต้องเข้ารับการผ่าตัดเอาดวงตาออกเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อราลามเข้าสู่สมอง 

นอกจากนี้พบว่าในระหว่างเดือน ธ.ค.2563 ถึงเดือน ก.พ. 2564 มีแพทย์ในกรุงนิวเดลี เมืองมุมไบ บังกาลอร์ ไฮเดอราบัด และปูเน รายงานว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อรา "มิวคอร์ไมโคซิส" จำนวนถึง 58 ราย โดยคนไข้ส่วนใหญ่มักติดเชื้อรานี้หลังหายป่วยจากโควิด-19 ไปแล้วประมาณ 12-15 วัน

นอกจากนี้แพทย์ในแผนกหู จมูก และคอ ของโรงพยาบาลในนครมุมไบ เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อมิวคอร์ไมโคซิส จำนวนถึง 24 รายในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (ระหว่างมี.ค.-เม.ย.64) จากที่ปกติจะพบผู้ติดเชื้อราชนิดนี้เพียงประมาณ 6 รายต่อปี โดยคนไข้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยกลางคนที่เป็นโรคเบาหวานติดเชื้อมิวคอร์ไมโคซิส หลังจากหายป่วยจากโควิด-19 ได้ประมาณ 2 สัปดาห์ ในจำนวนนี้ 11 คน ต้องสูญเสียดวงตา และอีก 6 คนเสียชีวิต

...

นายแพทย์นาอีร์ ระบุว่า การเพิ่มขึ้นอย่างมากของผู้ติดเชื้อรา "มิวคอร์ไมโคซิส" ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-9 ระลอกที่ 2 ทำให้เขารู้สึกประหลาดใจอย่างมาก โดยบอกว่าเมื่อพบผู้ติดเชื้อแนวทางการรักษาจะใช้การฉีดยาต้านเชื้อราเข้าหลอดเลือดดำ ทุกวันต่อเนื่องกัน 8 สัปดาห์ โดยยามีราคาเข็มละ 3,500 รูปี หรือประมาณ 1,500 บาท และถือเป็นยาชนิดเดียวที่สามารถรักษาโรคนี้ได้. 

ที่มา BBC