- รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศสนับสนุนข้อเสนอของอินเดียกับแอฟริกาใต้ ให้ผ่อนปรนข้อบังคับในสิทธิบัตรเกี่ยวกับวัคซีนต้านโควิด-19 เพื่อเพิ่มกำลังผลิต แก้ปัญหาวัคซีนขาดแคลน
- แต่หลายประเทศออกมาแสดงความต่อต้านอย่างรุนแรง พวกเขาอ้างว่า การผ่อนปรนสิทธิบัตรไม่ช่วยให้การผลิตเร็วขึ้น และยังอาจทำให้เกิดปัญหามากมายตามมาด้วย
- ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคน เชื่อว่า การผ่อนปรนสิทธิบัตรนั้นเป็นเรื่องจำเป็น แต่ไม่เพียงพอที่จะแก้วิกฤติการขาดแคลนวัคซีน และไม่สามารถเพิ่มการผลิตได้ในทันที
รัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศสนับสนุนข้อเสนอให้ผ่อนปรนความคุ้มครองทรัพย์ทางปัญญาในสิทธิบัตรวัคซีนโควิด-19 แล้ว ในขณะที่ชาติยุโรปส่วนใหญ่ยังคงมีท่าทีคัดค้าน
เรื่องการผ่อนปรนข้อจำกัดในสิทธิบัตรคุ้มครองวัคซีนต้านโควิด-19 นั้น ถูกพูดถึงมาตั้งแต่ปี 2563 แล้ว โดยอินเดียและแอฟริกาใต้เป็นผู้เสนอประเด็นขึ้นมา โดยอ้างว่า การผ่อนปรนความคุ้มครองจะช่วยให้ผู้ผลิตเจ้าอื่นสามารถเข้าถึงวิธีการผลิตได้มากขึ้น และสามารถผลิตวัคซีนใช้เองได้
แต่การผ่อนปรนสิทธิบัตรจะสามารถทำให้การผลิตวัคซีนเพิ่มขึ้นได้จริงหรือ? ฝ่ายที่คัดค้านระบุว่า การทำเช่นนี้เหมือนกับเป็นการมอบสูตรอาหารให้ แต่ไม่มีวัตถุดิบหรือวิธีการทำให้ด้วย และจะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า กว่ามาตรการนี้จะทำให้การผลิตเพิ่มขึ้นได้ก็อาจต้องรอจนถึงปี 2022

...
ฝ่ายหนุน-ฝ่ายต้านผ่อนปรนสิทธิบัตรวัคซีน
การจดสิทธิบัตริของ ยาและสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ จะทำให้ผลิตภัณฑ์ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายไม่ให้ถูกลอกเลียนไปโดยไม่ได้รับอนุญาต วัคซีนก็ไม่มีข้อยกเว้น สิทธิบัตรยังให้ผู้ผลิตมีสิทธิ์ความเป็นเจ้าของในการค้นพบของพวกเขา รวมทั้งสิทธิ์ในการหารายได้จากการค้นพบเหล่านั้น ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ
แต่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนานำโดย อินเดีย และแอฟริกาใต้ ยื่นข้อเสนอต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อปีก่อน ขอให้ผ่อนปรนความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของวัคซีน และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับไวรัสมรณะชนิดนี้ชั่วคราว
พวกเขาระบุว่า การทำเช่นนี้จะทำให้สูตรการผลิตวัคซีนสามารถเข้าถึงได้เป็นวงกว้างมากขึ้น และทำให้สามารถผลิตมันขึ้นมาใช้งานเองได้ในท้องถิ่นโดยผู้ผลิตรายอื่น
แต่ข้อเสนอนี้เผชิญเสียงต่อต้านอย่างรุนแรงจากทั้งบริษัทเภสัชกรรม และชาติตะวันตกทั้งสหราชอาณาจักร, สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ซึ่งตอนนั้นยังอยู่ในยุครัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ โดยพวกเขาอ้างว่า การผ่อนปรนสิทธิบัตรไม่ได้ช่วยให้การผลิตวัคซีนเร็วขึ้น ซ้ำยังบ่อนทำลายการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อ 5 พ.ค. 2564 รัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีคนใหม่อย่าง โจ ไบเดน ประกาศว่าสหรัฐฯ สนับสนุนเรื่องการผ่อนปรนสิทธิบัตรวัคซีน สร้างความตกตะลึงแก่บริษัทผู้ผลิตต่างๆ ขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรป เปลี่ยนท่าทีจากคัดค้านอย่างสิ้นเชิงเป็น “พร้อมจะหารือ”

เหตุผลที่คัดค้าน
บางคนตั้งข้อสังเกตว่า ที่บริษัทต่างๆ ออกมาคัดค้านเรื่องการผ่อนปรนสิทธิบัตร เพราะเรื่องของผลกำไรหรือไม่ แต่สำหรับในกรณีนี้ดูเหมือนจะไม่ใช่เช่นนั้น เพราะผู้ผลิตบางเจ้าอย่าง แอสตราเซเนกา ก็ขายวัคซีนในราคาทุนอยู่แล้ว
ข้อโต้แย้งหลักของฝ่ายบริษัทผู้ผลิตวัคซีนกับชาติตะวันตกคือ การผ่อนปรนสิทธิบัตรเพียงอย่างเดียวไม่อาจแก้ปัญหาวัคซีนขาดแคลนได้มากนัก เพราะมันเหมือนกับการมอบสูตรอาหารให้ โดยไม่มีวัตถุดิบหรือวิธีทำไปด้วย
การเผยแพร่สิทธิบัตรเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายๆ แต่สิ่งที่ยากคือการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต เช่นวัคซีนที่ผลิตด้วยวิธี ‘mRNA’ อย่างของไฟเซอร์กับโมเดอร์นา เป็นวิธีการใหม่และมีคนไม่มากที่เข้าใจวิธีการผลิต แม้แต่ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ที่ผลิตวัคซีนด้วยอะดีโนไวรัส ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ก็ระบุว่า พวกเขาเคยตรวจสอบหุ้นส่วนถึง 100 เจ้า พบว่ามีเพียง 10 เจ้าที่มีขีดความสามารถผลิตวัคซีนให้พวกเขาได้
ด้านไบโอเอ็นเทค ของเยอรมนี ซึ่งร่วมมือผลิตวัคซีนโควิดกับไฟเซอร์ เผยว่า การพัฒนากระบวนการผลิตวัคซีนนั้นต้องใช้เวลานานนับ 10 ปี และการยืนยันความถูกต้องของฐานการผลิตก็ใช้เวลานานร่วมปี ทำให้ผู้ผลิตกลัวว่า การเผยแพร่สิทธิบัตรแก่ผู้ผลิตที่ไม่มีความพร้อม จะทำให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพ, ความปลอดภัย และประสิทธิภาพของวัคซีนขึ้น และอาจถึงขั้นมีของปลอมด้วย

...
การผ่อนปรนสิทธิบัตร ทำให้การผลิตวัคซีนเร็วขึ้นจริงหรือ?
คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นจากข้อถกเถียงนี้คือ การผ่อนปรนสิทธิบัตรทำให้การผลิตวัคซีนเร็วขึ้นจริงหรือ? ซึ่งเรื่องนี้ เซอร์ โรบิน จาคอบ ประธานฝ่ายกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจากมหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าวว่า “ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ว่า บริษัทอื่นๆ จะสามารถเริ่มผลิตวัคซีนได้ทันที หากมีการเผยแพร่สิทธิบัตรออกมา”
ปัจจุบันบริษัททั่วโลกก็กำลังพยายามผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ด้วยความเร็วในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอยู่แล้ว แต่การเพิ่มกำลังผลิตให้สูงขึ้นอีกนั้นมีกำแพงใหญ่ขวางกั้นอยู่คือ การขาดแคลนวัตถุดิบ และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการผลิตวัคซีน
นาย ประชานต์ ยาดาฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านห่วงโซ่อุปทานจากศูนย์เพื่อการพัฒนาทั่วโลก ยอมรับว่า การผ่อนปรนสิทธิบัตรไม่สามารถช่วยเพิ่มการผลิตในช่วง 6 เดือนข้างหน้าได้ เพราะวัตถุดิบที่จำกัด แต่มันจะมีประโยชน์เมื่อนำไปรวมกับแพ็กเกจมาตรการขนาดใหญ่กว่า เช่นการให้ประเทศร่ำรวยอย่าง สหรัฐฯ เข้าไปลงทุนเรื่องการผลิตในประเทศรายได้น้อย เพื่อจัดตั้งเครือข่ายการผลิตซึ่งอาจเริ่มใช้การได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า
ส่วนนาย ลอว์เรนซ์ กอสติน ผู้อำนวยการสถาบัน โอนีลล์ เพื่อกฎหมายสุขภาพแห่งชาติและโลก แห่งมหาวิทยาลัยกฎหมายจอร์จทาวน์ กล่าวว่า การผ่อนปรนสิทธิบัตรเป็นสิ่งจำเป็นแต่ไม่เพียงพอ เพราะนานาชาติอาจต้องถกเถียงกันหลายเดือนกว่าจะได้ข้อสรุป ซึ่งในช่วงหลายเดือนที่ว่า ผู้ผลิตเจ้าอื่นๆ จะยังไม่ได้สิทธิ์ในการผลิตวัคซีนเลย
“เราไม่ได้กำลังพูดถึงการให้ความช่วยเหลือทันทีแก่ อินเดีย หรือ ลาตินอเมริกา หรือประเทศอื่นๆ ที่ไวรัสกำลังแพร่กระจายอย่างหนัก” กอสตินกล่าว “ในขณะที่พวกเขากำลังเจรจาข้อตกลง ไวรัสก็จะกลายพันธ์ุไปเรื่อยๆ”
ผู้เขียน : H2O
ที่มา : Financial time, BBC, statnews
...
กราฟิก : Sriwon Singha