ทศวรรษ 1980 เวเนซุเอลาเป็นหนี้ต่างประเทศจำนวนมาก ในทุกหน่วยงานของรัฐมีการฉ้อราษฎร์บังหลวง ต่อมาราคาน้ำมัน ลดลงมาก สภาพเศรษฐกิจของเวเนซุเอลาก็จึงถึงคราวพัง ตอนนั้นมีวีรบุรุษของชาติคนหนึ่งชื่ออูโก ชาเวซ ตั้งขบวนการปฏิวัติโบลิวาร์ 200 หรือ MRB200 เมื่อ ค.ศ.1983 เป็นขบวนการลับของทหารกลุ่มเล็กๆในกองทัพบก

การปฏิวัติครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1992 ไม่ประสบความสำเร็จ ชาเวซจึงต้องมอบตัวและถูกจับขังคุก เมื่อได้รับอภัยโทษก็ลาออกจากกองทัพและผันตัวมาเป็นนักการเมือง จากนั้นก็รื้อขบวนการปฏิวัติโบลิวาร์ 200 โดยใช้ชื่อใหม่ว่าขบวนการริพับลิกันที่ 5 หรือ MVR ชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเมื่อ ค.ศ. 1998

รัฐบาลชาเวซเข้าควบคุมบริษัทน้ำมันของชาติ ต่อมาเมื่อน้ำมันมีราคาสูง ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้น ภาวะความยากจนลดลง ความยากจนสุดขีดลดลงมากกว่าร้อยละ 72 อัตราความยากจนวัดจากรายได้ที่เป็นเงินสด ไม่นับสิทธิประโยชน์จากการดูแลสุขภาพและการศึกษา มีผู้รับผลประโยชน์จากเงินประกันสังคมมากถึง 2 เท่าก่อนที่ชาเวซจะเข้ามา

เมื่อน้ำมันบูมตูมตาม ประชาชนเวเนซุเอลาก็อพยพจากชนบทเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ ใช้ชีวิตอย่างแฮปปี้มีความสุข เพราะภาวะเศรษฐกิจดี ทำให้มีผู้คนจำนวนไม่น้อยทิ้งการเกษตร องค์ความรู้ด้านการผลิตลดน้อยถอยลงเป็นอย่างมาก

ชาเวซได้เงินจากการขายน้ำมันก็มาประเคนสร้างความสุขให้ประชาชนคนเวเนซุเอลา สังคมเวเนซุเอลาให้ความสนใจกับความสวยความงาม การประกวดนางงาม ความบันเทิงเริงใจ สนใจแต่การบริโภคละครประโลมโลก ประเภทแม่ผัวลูกสะใภ้

ผู้คนส่วนใหญ่กลายเป็นพวกหยิบโหย่ง รวย ฉาบฉวย นอกจากแข่งขันกันเรื่องความสวยความงามแล้ว ยังแข่งกันเรื่องการศึกษา ต้องมีปริญญาตรี โท เอก มียอดผู้ลงทะเบียนเรียนระดับปริญญาเพิ่มจำนวนมาก ทั้งประเทศเต็มไปด้วยคนมีปริญญา ทว่าไม่มีความสามารถที่แท้จริง

...

แต่ก่อนง่อนชะไร คนทั้งเวเนซุเอลาอยู่ได้เพราะน้ำมัน ชาเวซเอาไข่ไปใส่ในตะกร้าใบเดียว พอตะกร้าตก ไข่แตกทั้งตะกร้า น้ำมันราคาลด เศรษฐกิจของประเทศก็ดิ่งสู่หายนะ รัฐไม่มีเงินไปดูแลโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ประปา ไฟฟ้า ขาดการซ่อมบำรุง หลายคนอาจเคยเห็นคลิปที่อดีตมหาเศรษฐีต้องกระย่องกระแย่งไปขอแบ่งน้ำจากหลุมข้างถนนไปต้มเพื่อบริโภคประทังชีวิต

เศรษฐกิจและสังคมเวเนซุเอลาพังเพราะประชาชนขาดความศรัทธาในการเมืองและผู้นำ ผู้คนขาดกำลังใจในการดำเนินชีวิต ข่าวสารการฆ่าตัวตายมีให้เห็นเป็นรายวัน มีภาพของผู้คนจำนวนเรือนหมื่นเรือนแสนอยู่ตามด่านชายแดนเพื่อจะออกไปรับจ้างทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน ประเภทไปเช้ากลับเย็น

เวเนซุเอลาเคยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกกาแฟและโกโก้หลักของโลก คนเลิกปลูกกาแฟและโกโก้เพราะรัฐบาลชาเวซใช้นโยบายแจก นึกอะไรไม่ออกบอกไม่ถูกก็แจกเงินประชาชน ผู้คนจึงไม่อยากทำงาน นอนรอเงินจากรัฐบาลมาใช้ดีกว่า

รัฐบาลเอาใจประชาชนด้วยการควบคุมราคาสินค้าและบริการ กดราคาต่ำจนผู้ประกอบการไม่สามารถผลิตและต้องปิดกิจการ เมื่อไม่มีสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ก็ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นข้าวปลาอาหาร หรือแม้แต่เครื่องอุปโภคบริโภคประเภทต่างๆ

คนเวเนซุเอลาติดสบาย ใช้ชีวิตแบบหรูหราหมาเห่า ทำมาหากินไม่ค่อยเป็น รัฐบาลกู้เงินจากรัสเซียและจีนเพื่อนำมาแจกประชาชน เวเนซุเอลาจึงเป็นหนี้มากมายมหาศาล เงินเฟ้อสูง รัฐต้องประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

วันแรงงานที่ผ่านมา 1 พฤษภาคม 2564 รัฐประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเกือบ 3 เท่าของค่าจ้างขั้นต่ำเดิม ทว่าอนิจจาเอ๋ย ค่าจ้างใหม่ก็ยังไม่พอกระทั่งจะซื้อเนื้อสัตว์เพียง 1 กิโลกรัม

เวเนซุเอลาเผชิญภาวะ Hyperinflation หรือเงินเฟ้อขั้นรุนแรง ทั้งประเทศตกอยู่ในความทุกข์ บางประเทศผู้คนยากจนมาตลอด จึงชินกับวิถีชีวิตลำบากยากแค้น

ทว่าเวเนซุเอลาตรงกันข้าม เป็นเศรษฐีตกยาก

ประเทศที่กู้มาเพื่อแจก

ระวังจะต้องเผชิญกับหายนะภัยร้ายแรงอย่างเวเนซุเอลานะครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com