ชีวิต “สมรส” ใครว่า “สมรัก” โรยกลีบ ด้วยกุหลาบดังคำคนรุ่นเก่ารุ่นก่อนว่า แม้แต่ในจีนที่กลายเป็นปัญหาเตียงกระเทือนถึงขั้นหักพัง จนนำไปสู่ธุรกิจ “ที่ปรึกษา” ที่กำลังบูมเบ่งบาน

มร.จู เฉินยง อายุ 44 ปี เปิดให้คำปรึกษาชีวิตคู่ ภายในออฟฟิศเล็กๆ ที่มหานครเซี่ยงไฮ้ แนะนำหลายๆคู่ที่ต้องการหาคำตอบพยุงความรักให้อยู่ยาวตลอดรอดฝั่ง บนผนังกำแพงก็ติดคาถาคำว่า “ปล่อยให้ชีวิตแต่งงานอยู่ใต้บัญชาสวรรค์” แต่ในชีวิตจริงบนโลกยุคใหม่ของจีน เส้นกราฟการหย่าร้างทะยานสูงสวนทางคาถาดังว่า

จากข้อมูลเมื่อปีที่แล้ว พบทะเบียนการหย่าร้างทำสถิติ 8.6 ล้านครั้ง หรือเกือบเท่าตัวของปีก่อนหน้า แถมยังบดบังจำนวนการจดทะเบียนสมรสเป็นครั้งแรกอีกด้วย

หลังรัฐบาลจีนยึด “นโยบายลูกโทน” มาหลายสิบปี ส่งผลกระทบความไม่สมดุลระหว่างเพศหญิงกับเพศชาย ที่ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 30 ล้านคน คู่สามีภรรยาก็มีบุตรถดถอยลง กลายเป็นวิกฤติของสังคม

รวมไปถึงแรงกดดันของครอบครัวที่เร่งให้แต่งงาน ชีวิตชนบท ราคาบ้านที่แพงมากขึ้น การเลี้ยงดูเด็กไม่เท่ากัน ประกอบกับอาชีพที่ส่งเสริมสนับสนุนผู้หญิงที่เป็นแม่คน ล้วนเป็นองค์ประกอบความขัดแย้งเรื่องการแต่งงาน

โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มองเสรีภาพส่วนตัวต้องมาก่อนอันดับแรก ด้วยทัศนคติอย่างนี้ “การหย่า” จึงเป็นความชัดเจนของสังคมอารยชนและการตื่นรู้ของฝ่ายหญิง ซึ่งปัญหาเรื่องเงินกับการนอกใจเป็นสาเหตุลำดับต้นๆ

“ผมมักพูดอยู่เสมอว่า การให้คำปรึกษาเรื่องชีวิตคู่ส่วนใหญ่แล้วก็เหมือนการรักษามะเร็งขั้นสุดท้าย ซึ่งลูกค้าที่มาขอคำปรึกษาก็อยู่ในขั้นวิกฤติใกล้แตกหักเต็มทน มีเพียงไม่กี่คู่หรอกที่คิดเรื่องการหย่า เพียงแต่ต้องการคำปรึกษาว่าสมควรทำอย่างไร? หาวิธีจบแบบสวยสุดโดยให้มองถึงลูกเป็นสิ่งสำคัญ”

...

วิเวียน สาววัย 31 ปี ที่แต่งงานแล้ว ไม่ได้มองว่าการหย่าเป็นเรื่องน่ากลัว แต่เป็นเส้นทางแห่งการปลดปล่อย “ความคิดคนรุ่นเก่ามองว่าการหย่าคือ ไม่มีใครต้องการคุณ แต่คนรุ่นฉันคิดว่าก็แค่เป็นทางเลือกของตัวเอง เราไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องน่าอาย แต่กลับชื่นชมคนที่หย่าสำเร็จด้วยซ้ำ”.

ฤทัยรัช จันทร์เพ็ญ