นาซาประกอบยานสำรวจไซคีในขั้นตอนสุดท้าย
นาซาประกอบยานสำรวจไซคีในขั้นตอนสุดท้าย
ไทยรัฐฉบับพิมพ์
ทำไมดาวเคราะห์น้อยไซคี (Psyche) ขนาดกว้างราว 226 กิโลเมตรที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ในแถบดาวเคราะห์น้อยระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี จึงตกเป็นเป้าหมายที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา ต้องทุ่มงบลงทุนสร้างยานอวกาศออกไปสำรวจ นั่นก็เพราะนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าไซคีอุดมไปด้วยโลหะอย่างเหล็กและนิกเกิล และอาจเป็นแกนกลางของดาวเคราะห์ยุคแรกๆ จึงน่าจะให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการก่อตัวของโลกและดาวเคราะห์ดวงอื่นได้

ข่าวแนะนำ
โครงการยานพิชิตไซคีของนาซามีมูลค่าถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้เริ่มประกอบในขั้นตอนสุดท้ายอย่างเป็นทางการ ซึ่งหน่วยงานอวกาศของสหรัฐฯ ได้แชร์ภาพถ่ายและวิดีโอของยานอวกาศไซคีจากห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่นหรือ เจพีแอล (JPL) ในแคลิฟอร์เนีย เมื่อเครื่อง Solar Electric Propulsion (SEP) Chassis ที่ใช้ระบบขับดันด้วยพลังงานจากแสงอาทิตย์ ลำเลียงไปถึงห้องปฏิบัติการดังกล่าว เครื่อง SEP คือส่วนประกอบหลักของยานอวกาศ โครงสร้างขนาดใหญ่ประมาณรถตู้ มีเสาอากาศกำลังขยายสูง มีกรอบขนาดใหญ่ใส่เครื่องมือวิทยาศาสตร์ พร้อมฝาครอบป้องกันสีแดงเพื่อปกป้องส่วนประกอบที่บอบบาง
เมื่อประกอบยานสำเร็จเต็มรูปแบบ ก็จะต้องย้ายไปที่ห้องสุญญากาศความร้อนขนาดใหญ่ของเจพีแอล เพื่อทดสอบการอยู่ภายใต้สภาวะที่คล้ายกับห้วงอวกาศ ทั้งนี้ ยานไซคี จะต้องเดินทางประมาณ 179.5 ล้านกิโลเมตรไปยังดาวเคราะห์น้อยไซคี เพื่อตรวจสอบสนามแม่เหล็ก อนุภาคนิวตรอน และรังสีแกมมา ที่แผ่ออกมาจากพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยไซคี คาดว่ายานอวกาศลำนี้จะปล่อยออกไปในเดือน ส.ค.ปีหน้า.
Credit : NASA/JPL-Caltech/ASU