• องค์การอนามัยแพน อเมริกา (Pan American Health Organization-PAHO) เตือนว่า สถานการณ์โควิด-19 แถบละตินอเมริกาในปีนี้ ส่อเค้ารุนแรงกว่าปีที่แล้ว ขณะที่หลายประเทศกำลังพยายามต่อสู้กับการแพร่ระบาดที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
  • บราซิลเจอเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่ ในขณะที่กำลังเผชิญวิกฤติการแพร่ระบาดรุนแรงที่สุด มีตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่และผู้เสียชีวิตสูงสุดอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ เนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาโควิด ทำให้ตอนนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน
  • ผู้เชี่ยวชาญเตือนประเทศแถบอเมริกาใต้ว่า ความท้าทายใหญ่หลวงตอนนี้คือการจัดหาวัคซีนฉีดให้กับประชาชน ท่ามกลางศึก "วัคซีนชาตินิยม" (vaccine nationalism) ระหว่างประเทศมหาอำนาจที่ต้องการความได้เปรียบทางการเมืองและเศรษฐกิจ

ตอนนี้หลายประเทศทั่วโลกกำลังวิตกกังวลกับการมาถึงของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยเฉพาะหลายประเทศแถบยุโรป ที่เริ่มออกมาตรการล็ออดาวน์เข้มงวดอีกครั้ง แต่เมื่อมาดูบรรดาประเทศแถบอเมริกาใต้ตอนนี้กำลังมีแนวโน้มว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ต่างกำลังรุนแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิม

คาริสซา เอทเทนนี ผู้อำนวยการองค์การอนามัยแพนอเมริกา เตือนว่าขณะนี้หลายประเทศแถบซีกโลกใต้กำลังเข้าสู่ช่วงวันหยุดฤดูร้อนและฤดูใบไม้ผลิ ที่สภาพอากาศอบอุ่นขึ้น จะยิ่งทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เลวร้ายมากขึ้น หากไม่มีการวางมาตรการป้องกันที่เหมาะสม อย่างการล็อกดาวน์ให้ประชาชนอยู่บ้าน เราจะได้เห็นว่าการแพร่ระบาดในปีนี้จะทวีความรุนแรงกว่าช่วงปีที่ผ่านมา 

...

ชิลีกระจายฉีดวัคซีนทั่วประเทศแล้ว แต่ยอดติดเชื้อใหม่ยังพุ่ง

แม้ว่าชิลีจะประสบความสำเร็จอย่างมากในโครงการฉีดวัคซีนต้านโควิดให้กับประชาชน โดยชิลีเป็นประเทศที่มีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนสูงสุดอันดับ 3 รองจากอิสราเอลและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อัตราการกระจายฉีดวัคซีนต่อประชากร 100 คนอยู่ที่ 49.19 โดส เรียกได้ว่าเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั่วประเทศ 18 ล้านคนได้รับการฉีดวัคซีนแล้วคนละอย่างน้อย 1 โดส

เมื่อช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม รัฐบาลชิลีประกาศมาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดระลอกใหม่ โดยรัฐบาลสั่งปิดตลาดในชุมชน เปิดได้เพียงซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีมาตรการคุมเข้มในการคัดกรองอุณหภูมิและเว้นระยะห่างทางสังคมเท่านั้น พร้อมแนะนำให้ประชาชนใช้บริการส่งสินค้าที่บ้านแทนการออกไปซื้อเอง

ตอนนี้ประชาชนชาวชิลีสามารถขออนุญาตออกจากบ้านได้เพียงสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อไปซื้ออาหาร ยาและของใช้ที่จำเป็นเท่านั้น และสามารถไปออกกำลังกายนอกบ้านได้เฉพาะช่วงเวลา 07.00 - 08.30 น.  

ขณะเดียวกัน ชิลีเป็นเหมือนหลายประเทศทั่วโลกที่ตอนนี้ที่กำลังเผชิญวิกฤติด้านระบบสาธารณสุข เตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอ อัตราคนไข้ที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลทั่วประเทศสูงถึง 95%

ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน มี.ค. ชิลีมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันทะลุหลัก 7,000 คน ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ชิลีพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,993 ราย ในรอบ 24 ชม. เป็นตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดเมื่อปีที่แล้ว จนถึงตอนนี้ชิลีมีตัวเลขผู้ป่วยสะสมอยู่ที่กว่า 1 ล้านราย จำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดอยู่ที่ 23,524 ศพ 

เม็กซิโกปกปิดตัวเลขไม่ไหว ยอมรับยอดตายจริงพุ่งกว่า 61%

สัปดาห์ที่แล้วรัฐบาลเม็กซิโกออกมายอมรับว่าที่จริงแล้วตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในประเทศสูงกว่าที่รายงานต่อองค์การอนามัยโลก และสถาบันการแพทย์ต่างๆ ถึง 61% โดยกระทรวงสาธารณสุขของเม็กซิโกบอกว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เคยรายงานไปอยู่ที่กว่า 294,000 ศพ แต่ที่จริงแล้วมีมากกว่า 321,000 ศพ ซึ่งจะทำให้เม็กซิโกเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตสูงกว่าบราซิลที่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ

นายแพทย์ลูอิส โอมาร์ โมนาร์เรซ แห่งโรงพยาบาลในเมืองซิอูดัด ฮัวเรซ เปิดเผยว่า การออกมาปรับตัวเลขผู้เสียชีวิตในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องน่าประหลาดใจแต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมาหลายคนในแวดวงการแพทย์ต่างรู้ว่าที่ผ่านมาตัวเลขผู้เสียชีวิตของรัฐไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง อย่างเช่นเช้าวันหนึ่งรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วประเทศอยู่ที่ 10 ศพ แต่ในความเป็นจริงเฉพาะในโรงพยาบาลที่เขาทำงานอยู่แห่งเดียวก็มีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิดถึง 15 ศพแล้ว นอกจากนี้ ยังมีหลายรายที่เสียชีวิตก่อนผลตรวจโควิดที่พบว่าเป็นบวกจะออกมา ส่งผลให้รายงานสาเหตุการเสียชีวิตจะบอกว่า "ต้องสงสัยติดโควิด-19" หรือไม่ก็เกิดจาก "ปอดบวม"

ลอรี่ แอน ซีเมนเนซ ฟีวี่ หัวหน้าห้องทดลองด้านพันธุกรรมโมเลกุล มหาวิทยาลัยแห่งชาติเม็กซิโก ระบุว่า ที่ผ่านมาเม็กซิโกแก้ปัญหาโควิด-19 ผิดพลาดมาตลอด ส่งผลให้ตอนนี้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ต่อจำนวนประชากรสูงที่สุดในโลก 

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดในเม็กซิโกเมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ยืนยันว่าโควิด-19 เป็นโรคไม่ร้ายแรง และบอกว่าประเทศต้องการปกป้องเศรษฐกิจมากกว่า เลยให้ประชาชนไปทำงานตามปกติ ไม่ได้แนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย ไม่มีการประกาศปิดพรมแดน ไม่ประกาศล็อกดาวน์ จนกระทั่งประธานาธิบดีเองต้องติดโควิด-19 เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

...

ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข ต่างเชื่อว่าเม็กซิโกกำลังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดเลวร้ายถึงขั้นวิกฤติ พอๆ กับบราซิล แต่เนื่องจากมีอัตราการตรวจหาเชื้อต่ำ เพราะรัฐบาลไม่ได้ส่งเสริมให้มีการตรวจหาเชื้ออย่างครอบคลุม ขณะที่การฉีดวัคซีนต้านโควิดในประเทศนี้ก็ดำเนินไปอย่างล่าช้า แม้ว่าจะประกาศเริ่มโครงการฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว แต่สถิติจาก Our World in Data ระบุว่า ชาวเม็กซิโกได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิดไม่ถึง 5% ของจำนวนประชากร น้อยกว่าชิลี อาร์เจนตินา และบราซิล  

ล่าสุด เว็บไซต์ WorldOMeter รายงานสถิติที่ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขเม็กซิโก รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 2.2 ล้านราย มีผู้เสียชีวิตแล้ว 204,011 ศพ

บราซิลอ่วมเจอเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ท้องถิ่นรวมกับของแอฟริกาใต้ 

ประธานาธิบดีชาอีร์ โบลโซนาโร ของบราซิล กำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนักให้รัฐบาลจริงจังกับการแก้ปัญหาวิกฤติโควิด-19 หลังจากจำนวนผู้เสียชีวิตพุ่งวันละเกือบ 4,000 ศพ เฉพาะเดือนมีนาคมเดือนเดียว บราซิลมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากถึง 66,573 ศพ 

...

ล่าสุด มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกิ้นส์ เปิดเผยว่า บราซิลมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 12.95 ล้านราย สูงสุดอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ และมีผู้เสียชีวิต 330,297 ศพ

นางมาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาขององค์การอนามัยโลก เตือนว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในบราซิลกำลังอยู่ในช่วงวิกฤติด้านสาธารณสุข โรงพยาบาลไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วย โดยพบว่าโรงพยาบาลเต็มแล้วกว่า 90%

เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา บราซิลเพิ่งค้นพบไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ในประเทศ เรียกว่า P.1 ในรัฐแอมะซอน ที่เชื่อว่ามีอัตราการติดเชื้อง่ายขึ้นและอันตรายกว่าสายพันธุ์ที่เคยระบาดอยู่ แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 มี.ค. มีการประกาศว่าพบเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ ที่เชื่อว่าเป็นเชื้อ P.1 ที่กลายพันธุ์รวมกับเชื้อกลายพันธุ์ของแอฟริกาใต้

ดิมาส โควาส ประธานสถาบันชีวการแพทย์บันตาตัน แถลงว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในรัฐเซาเปาโล ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ โดยเป็นเชื้อที่มีความคล้ายกับเชื้อกลายพันธุ์แอฟริกาใต้ ทั้งที่ตัวผู้ป่วยเองไม่เคยมีประวัติเดินทางไป และไม่เคยสัมผัสติดต่อกับคนที่เดินทางไปแอฟริกาใต้มาก่อน ซึ่งเชื้อกลายพันธุ์แอฟริกาใต้ เป็นตัวที่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามีการติดเชื้อได้ไว ในขณะที่วัคซีนไฟเซอร์ โมเดอร์น่า และแอสตราเซเนกาก็ออกฤทธิ์ต้านอย่างมีประสิทธิภาพได้น้อยที่สุด  

สถิติระบุว่า จนถึงตอนนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศแถบอเมริกาใต้ทั้งหมด อยู่ที่ประมาณเกือบ 20 ล้านราย เสียชีวิตแล้วกว่า 7 แสนราย มีประชากรชาวอเมริกาใต้ที่ได้รับวัคซีน 1 โดส แล้ว 124 ล้านราย ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส แล้วจำนวน 58 ล้านราย การเร่งฉีดวัคซีนป้องกันให้กับประชาชนยังเป็นความท้าทายใหญ่หลวงในตอนนี้.

...

ผู้เขียน เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์

ที่มา Aljazeera NYTimes DW