ประชาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จะเอาอย่างไรกันแน่กับรัฐประหารในพม่า ท่ามกลางข่าวสับสน บัดนี้มีรายงานข่าวว่าจะมีการประชุมนัดพิเศษของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา ในวันที่ 2 มีนาคม เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤติการเมืองในพม่า อันเนื่องมาจากรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์
ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่า มีการพบหารือระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ไทย และพม่า ที่กรุงเทพฯ แต่เรื่องก็เงียบหายไปเชื่อว่าเป็นความริเริ่มของนางเรคโน มาร์สุดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ด้วยความเห็นชอบของประธานาธิบดีโจโค วิโดโด และสิงคโปร์ ผู้นำกลุ่มประชาธิปไตยอาเซียน
รัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพรรคเอ็นแอลดี ซึ่งมีนางอองซาน ซูจี เป็นผู้นำ มี พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้นำ โดยอ้างว่ารัฐบาลโกงการเลือกตั้งชนะพรรคฝ่ายทหารท่วมท้น แต่คนทั่วโลกไม่มีใครเชื่อ จึงถูกรุมประณาม ทั้งจากสหรัฐอเมริกา สหประชาชาติ กลุ่มสหภาพยุโรป หรืออียู แม้แต่ธนาคารโลก
แต่กลุ่มที่ออกมาต่อต้านรัฐประหาร อย่างจริงจังเอาเป็นเอาตายที่สุด คือประชาชนชาวพม่าทั่วประเทศ ที่เคยรู้รสชาติของความทุกข์ยากขมขื่นภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารนานกว่า 50 ปี เพิ่งจะได้ลิ้มรสของเสรีภาพและประชาธิปไตยแค่ 5 ปี การประท้วงเปิดฉากขึ้นตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ จนถึงวันนี้
ปัญหาขณะนี้ก็คือ ประชาคมโลกและประชาคมอาเซียน จะช่วยเหลือชาวพม่าอย่างไรในการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย กลุ่มอาเซียนที่มีเพียง 10 ประเทศ แต่มีความเห็นต่างกลุ่มประเทศที่อำนาจนิยมอาจรู้สึกเฉยๆ ส่วนไทยซึ่งเคยเป็นผู้นำประชาธิปไตยในอาเซียน แต่เสียแชมป์ให้อินโดนีเซียขึ้นแทน
...
รัฐบาลไทยในปัจจุบัน เป็นรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากรัฐประหาร จึงเข้าใจและเห็นใจรัฐบาลรัฐประหารพม่า ไม่สนใจฟื้นฟูประชาธิปไตยในพม่า อ้างว่าต้องยึดหลัก “แม่แทรกแซงกิจการภายใน” แต่หลักการนี้น่าจะล้าหลังเสียแล้ว ชัดเจนที่สุดคือแถลงการณ์ของอาเซียนที่ระบุว่าต้องยึดมั่นหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
แต่ผู้นำประชาธิปไตยในอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย ยืนยันว่าอาเซียนต้อง “ทำอะไรสักอย่าง” ไม่ใช่ยืนดูอยู่เฉยๆ ปล่อยให้ชาวพม่าถูกปล้นสิทธิเสรีภาพในการปกครองตนเองไปต่อหน้าต่อตา ชาวพม่าจึงอาจต้องขออำนาจบารมีจากบรรดายักษ์ใหญ่ของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา สหประชาชาติ สหภาพยุโรป เป็นที่พึ่ง.