รัฐบาลที่ไม่ได้อยู่ในที่ตั้งปกติที่เราพบเจอกันมี 3 ประเภทคือ รัฐบาลชั่วคราว ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า interim government รัฐบาลพลัดถิ่น ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า government in exile และรัฐตกค้าง หรือ rump state
รัฐบาลพลัดถิ่นเป็นกลุ่มการเมืองที่อ้างตัวเป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ไม่อาจใช้อำนาจตามกฎหมายในประเทศนั้นได้ จำเป็นต้องตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่นอกประเทศด้วยความมุ่งหวังตั้งใจว่า อนาคตจะได้กลับมาบริหารบ้านเกิดเมืองนอนของตน รัฐบาลพลัดถิ่นมักเกิดขึ้นในช่วงที่มีการรบหรือช่วงที่มีการปฏิวัติรัฐประหาร
รัฐบาลพลัดถิ่นจะมีความชอบธรรมหรือไม่ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากประชาชนและจากรัฐบาลประเทศต่างๆ
ส่วนรัฐตกค้างเป็นรัฐที่ยังสามารถควบคุมดินแดนส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศเดิม อย่างเช่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จักรวรรดิเยอรมันเข้ายึดครองเบลเยียมได้เกือบทั้งราชอาณาจักร ยกเว้นแผ่นดินภาคตะวันตกเพียงเล็กน้อยที่พวกเบลเยียมยังสามารถปกครองได้อยู่
ผมฟังการวิเคราะห์เรื่องที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางซูจีที่จะตั้งรัฐบาลขึ้นมาท้าทายอำนาจของพวกเผด็จการทหารพม่า หลายสำนักใช้คำว่า รัฐบาลพลัดถิ่น ขออนุญาตเรียนว่าสิ่งที่สมาชิกพรรคของนางซูจีกำลังจัดตั้งกันคือ รัฐบาลชั่วคราว
ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่า รัฐบาลชั่วคราวของนางซูจีจะได้รับการรับรองจากมหาอำนาจสหรัฐฯ อังกฤษ และประเทศตะวันตกอื่น รวมทั้งองค์กรโลกอย่างสหประชาชาติ ส่วนประเทศที่เคยต้อนรับขับสู้ผู้คนที่ส่งมาจากรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าอาจจะต้องหน้าแตก และถูกโดดเดี่ยวจากสังคมโลก เสมือนหนึ่งท่านยืนอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับฝ่ายนานาอารยประเทศ
ภาพลักษณ์ในแง่ลบของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าจะไหลไปพอกพูนกับประเทศไหนที่ใดบ้าง ขึ้นอยู่กับความฉลาดเฉลียวและไหวพริบของคณะผู้นำประเทศนั้นๆ หากประเทศ ก. ยอมให้ผู้แทนหรือรัฐมนตรีที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าผู้ฆ่าประชาธิปไตยและฆ่าประชาชนคนบริสุทธิ์ให้มายืนอยู่ในแผ่นดินของประเทศ ก. ภาพลักษณ์แง่ลบของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าก็จะผ่องถ่ายไหลโอนมากองอยู่ในประเทศ ก. ทำให้ประเทศ ก. กลายเป็นตำบลกระสุนตก
...
ยิ่งรัฐบาลเผด็จการเคยมีการกระทำที่เข้าข่าย Crime of Genocide หรือเคยทำอาชญากรรมอันเป็นการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ด้วยแล้ว ประเทศต่างๆจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ไปเกี่ยวดองหนองยุ่งด้วย เพราะกลัวคำกล่าว “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง แต่ดันเอากระดูกมาแขวนคอ” ให้คนทั้งโลกหัวเราะเยาะในความโง่เขลาเบาปัญญา
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีผู้นำฉลาด หาโอกาสในการสร้างภาพลักษณ์บวกให้กับประเทศตนเอง ปรับภาพลักษณ์ของตนเองจากประเทศเผด็จการทหารในอดีต ให้กลายเป็นประเทศที่จะเป็นผู้เจรจา ไกล่เกลี่ยเพื่อมอบประชาธิปไตยให้กลับคืนสู่ประชาชนคนพม่า
อินโดนีเซียมีแต่ได้กับได้ และเป็นผู้กระจายภาพการนั่งประชุมกันในแผ่นดินไทย ระหว่าง ฯพณฯ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่าง ประเทศแห่งราชอาณาจักรไทย ฯพณฯ เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย และนายวันนะ หม่องละวิน ผู้ที่เผด็จการทหารพม่าจะตั้งให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของคณะรัฐประหาร
ทันทีที่ภาพนี้กระจายไปในทั่วทุกตรอกซอกมุม ประชาชนพลเมืองโลกนับพันล้านคนส่งเสียงก่นด่าประเทศที่ต้อนรับ ประเทศที่เตรียมแผ่นดินของตนให้ผู้แทนของเผด็จการทหารพม่ามาเหยียบเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2564
ประชาชนคนพม่ามากกว่า 50 ล้าน ร้องโอดโอยโหยหวนคร่ำครวญน้ำตาไหลพราก พร่ำรำพันถามผู้นำประเทศเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงว่า เหตุใดท่านจึงทำแบบนี้
ณ ที่ประชุมสหประชาชาติซึ่งเป็นศูนย์กลางของโลก ฯพณฯ อู จ่อ โม ทูน เอกอัครราชทูตพม่าประจำยูเอ็น แสดงสัญลักษณ์ด้วยการชูสามนิ้วต่อหน้าผู้แทนนานาประเทศ พร้อมทั้งกล่าวประณามการรัฐประหารและเรียกร้องประชาคมโลกให้เข้ามาช่วยจัดการการรัฐประหารในบ้านเมืองของตน
“อะเยต่อโป่ง อ่องยะแหม่” ภารกิจยิ่งใหญ่ต้องสำเร็จ
วลีนี้นี่ละครับ ที่ประชาชนคนพม่าใช้ตะโกนต่อต้านทหารพม่าทุกครั้ง.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com