สหรัฐฯ และอังกฤษ เดินหน้ากดดันกองทัพเมียนมาให้ปล่อยตัวนางซูจี หลังถูกตำรวจพยายามยัดข้อหา พร้อมเรียกร้องให้ประชาชนร่วมอารยะขัดขืนต่อต้านการกระทำดังกล่าว

นายเน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ แถลงต่อผู้สื่อข่าว ยืนยันจุดยืนให้กองทัพเมียนมาปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี และแกนนำคนอื่นๆ ทันที พร้อมแสดงความไม่พอใจต่อการตั้งข้อหาหลายข้อหาต่อนางซูจี เช่นเดียวกับนายโดมินิค ราบ รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษที่มีการโพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ว่า ทางการอังกฤษขอประณามการควบคุมตัวนางซูจี พร้อมเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ในเวลานี้ พร้อมขอให้กองทัพเมียนมาปล่อยตัวทุกคน และถอนข้อกล่าวหาทั้งหมดด้วย โดยประชาธิปไตยจะต้องไม่ถอยหลัง และทางการอังกฤษจะมีการหารือกับพันธมิตรชาติอื่นๆ เพื่อดำเนินการในขั้นต่อไป

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา นางออง ซาน ซู จี ถูกตำรวจตั้งข้อหาหลายข้อหา ตั้งแต่ข้อหาละเมิดกฎหมายนำเข้า-ส่งออก จนถึงครอบครองเครื่องมือสื่อสาร อย่างวอล์กกี้ทอล์กกี้ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจากที่กองทัพนำกำลังเข้าค้นบ้านของเธอ โดยเธอจะถูกคุมขังเพื่อรอการพิจารณาคดีจนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้

...

ขณะที่ นายวิน มินต์ อดีตประธานาธิบดีเมียนมา ถูกตั้งข้อหาละเมิดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังจากเขาได้พบปะกับผู้สนับสนุนเขาที่ออกมาเดินขบวนสนับสนุนในช่วงหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเขาจะถูกคุมขังเพื่อรอพิจารณาคดีเป็นเวลา 2 สัปดาห์เช่นเดียวกัน จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันว่า ทั้งคู่ถูกจับกุมตัวอยู่ที่ใด

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าในตอนนี้จะยังไม่มีการรวมตัวประท้วงใหญ่ตามจุดต่างๆเนื่องจากยังคงมีการคุมเข้มด้วยกองกำลังทหารที่ลาดตระเวนตามท้องถนนในเมืองใหญ่ แต่ก็เริ่มมีสัญญาณของการต่อต้านรัฐประหารแสดงออกมาจากหลายกลุ่มอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มแพทย์และพยาบาลที่หยุดงานประท้วงและติดริบบิ้นสีแดง ชูสามนิ้ว เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านการทำรัฐประหารตั้งแต่เมื่อวานนี้ นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่รณรงค์กิจกรรม อารยะขัดขืน ผ่านทางเพจเฟซบุ๊กตั้งแต่ช่วงเที่ยงวานนี้ ซึ่งหลังจากเปิดตัวไม่ถึง 24 ชั่วโมงก็มีผู้ติดตามแล้วมากกว่า 150,000 คน ก่อนที่กองทัพเมียนมาจะมีคำสั่งบล็อกเฟซบุ๊กในวันนี้


ขณะที่ ชาวบ้านทั่วไปยังคงออกมาตีหม้อ และกระทะโลหะ เป็นวันที่สอง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการขับไล่สิ่งชั่วร้าย ซึ่งก็คือการทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมา.