ชาวบ้านในเมืองย่างกุ้งออกมาเคาะหม้อ กระทะ บีบแตรรถยนต์ เพื่อประท้วงการยึดอำนาจของกองทัพ ขณะที่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในหลายเมืองวางแผนประท้วงหยุดงาน
สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า หลังจากกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของนางออง ซาน ซูจี รวมทั้งควบคุมตัวเธอ รวมถึงอดีตประธานาธิบดีอู วิน มินต์ และแกนนำคนสำคัญของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) หลายคน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สถานการณ์ส่วนใหญ่อยู่ในความสงบ มีทหารเดินตรวจตราตามเมืองใหญ่ มีการบังคับใช้คำสั่งเคอร์ฟิวตอนกลางคืน ขณะที่ระบบสื่อสารที่ถูกตัดไปช่วงรัฐประหาร กลับมาใช้การได้ในเช้าวันอังคารที่ 2 ก.พ. 2564
แต่ในคืนวันเดียวกัน มีเสียงแตรรถยนต์ และเสียงเคาะหม้อ หรือกระทะ ดังขึ้นตามท้องถนนในนครย่างกุ้ง ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการประท้วงต่อต้านการรัฐประหารของชาวบ้าน ขณะที่กลุ่มเยาวชนและนักศึกษาออกมาเรียกร้องให้มีการทำอารยขัดขืน โดยเพจเฟซบุ๊กของพวกเขามีคนกดไลค์มากกว่า 100,000 ครั้ง ด้านแพทย์หลายคนที่ทำงานในโรงพยาบาลของรัฐ กล่าวว่า พวกเขาจะหยุดงานตั้งแต่วันพุธนี้ เพื่อเรียกร้องให้กองทัพปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี ส่วนเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์บางคนได้ประท้วงเงียบ ด้วยการติดโบสีดำเป็นสัญลักษณ์
...
แพทย์บางคนถึงขั้นตัดสินใจลาออกเพื่อประท้วงการรัฐประหาร เช่น ดร.นาย ทู้ อ่อง วิสัญญีแพทย์ที่โรงพยาบาลโมนยวา ในเขตซะไกง์ บอกกับสำนักข่าวบีบีซี ภาษาเมียนมา ว่า เขาลาออกเพราะไม่สามารถทำงานภายใต้เผด็จการทหารซึ่งไม่สนใจประเทศและประชาชนได้ นี่เป็นการตอบโต้ที่ดีที่สุดที่เขาแสดงออกมาได้
ขณะที่ ดร.เมียว เตต อู หมออีกคนที่ร่วมในการทำอารยขัดขืน บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ ว่า “เราไม่สามารถยอมรับเผด็จการ และรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้ พวกเขาจับกุมเราได้ทุกเวลา เราจึงตัดสินใจที่จะเผชิญหน้ากับมัน พวกเราทุกคนตัดสินใจที่จะไม่ไปโรงพยาบาล”
ทั้งนี้ หลังจากจับกุมนางซูจีกับแกนนำคนสำคัญของพรรคเอ็นแอลดีหลายคน เมื่อช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาก็ออกแถลงการณ์ชี้แจงสาเหตุ โดยอ้างว่า พบการฉ้อโกงในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง และรัฐบาลปฏิเสธคำขอของพวกเขาที่ให้เลื่อนการเปิดประชุมไปก่อน จึงยึดอำนาจและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินภายใต้มาตราที่ 417-418 เป็นเวลา 1 ปี กองทัพยังกักตัวสมาชิกสภากว่า 100 คนที่บ้านรับรองในกรุงเนปิดอว์ด้วย แต่ล่าสุดพวกเขาได้รับอนุญาตให้ออกไปได้แล้ว เว้นแต่นางซูจีและนายอู วิน มินต์ ที่ตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ใด.