- กองทัพเมียนมาบุกจับ 'ออง ซาน ซูจี' และนักการเมืองคนสำคัญควบคุมตัวในบ้านพัก ก่อนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปีเต็ม
- กองทัพเมียนมาอ้างผลการเลือกตั้งทั่วไปเป็นชนวนการยึดอำนาจ หลังมีการร้องเรียนการทุจริตแต่รัฐบาลภายใต้นาง 'ซูจี' นิ่งเฉย ท่ามกลางการแบ่งฝ่ายการเมืองในประเทศที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
นักวิเคราะห์หวั่น การยึดอำนาจอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้เมียนมากลับไปอยู่ภายใต้แกนนำของรัฐบาลทหารอีกครั้ง หลังพยายามหลีกหนีเกือบ 50 ปี
สถานการณ์การเมืองในเมียนมา เพื่อนบ้านของไทยตึกเครียด หลังพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเมียนมา เป็นเวลา 1 ปี และได้ประกาศยึดอำนาจรัฐบาล หลังจากที่ช่วงเช้าของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพเมียนมา ได้บุกเข้าควบคุมตัวนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ รวมถึงประธานาธิบดีอู วิน มินต์ และแกนนำคนสำคัญหลายคนของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นเอลดี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของเมียนมา
โดยสถานีโทรทัศน์ เมียวดี ของเมียนมา อ้างว่า หนึ่งในสาเหตุของการยึดอำนาจเกิดจากรัฐบาลของเมียนมา ภายใต้นางออง ซาน ซูจี ล้มเหลวในการตรวจสอบข้อร้องเรียนกับการทุจริตในการเลือกตั้งทั่วไปที่มีขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ด้านนักวิเคราะห์มองว่าการก่อรัฐประหารยึดอำนาจของรัฐบาลในครั้งนี้เปรียบเสมือนการยุติบทบาททางการเมืองของนางออง ซาน ซูจี ที่ขณะนี้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่บ้านพัก
...
'ซูจี' โดนยึดอำนาจ เสียงในประเทศแตกเป็นสองฝ่าย
นางออง ซาน ซูจี วัย 75 ปี ได้ขึ้นเป็นผู้นำเมียนมาในปี พ.ศ. 2558 หลังได้รับคะแนนเสียงอย่างถล่มทลาย ยุติการบริหารประเทศโดยรัฐบาลทหาร ซึ่งนางออง ซาน ซูจี เป็นที่จดจำของนานาชาติในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน แต่ภาพลักษณ์ในแง่บวกลับถูกทำลายหลังจากนานาชาติมองว่านางออง ซาน ซูจี ล้มเหลวในการแก้ปัญหาชาวโรงฮิงญา ในรัฐยะไข่ แต่เธอยังคงได้รับความนิยมในเมียนมาบ้านเกิด
ส่วนกองทัพของเมียนมา ได้เปรียบตนเองเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญและความสามัคคีของคนในประเทศ และมีบทบาทถาวรในระบบการเมืองของประเทศ ซึ่งกองทัพเมียนมานั้นมีโควตาที่นั่งในสภา 25 เปอร์เซ็นต์ และเป็นฝ่ายที่กำกับดูแลกระทรวงกลาโหม, กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกิจการชายแดน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภาคส่วนสำคัญต่อระบบการเมืองของเมียนมาทั้งสิ้น
ข่าวลือรัฐประหารกลายเป็นจริง เสียงประชาชนแตกเป็นสองฝ่าย
การยึดอำนาจรัฐบาลเมียนมานั้นสอดคล้องกับข่าวลือเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า กองทัพเมียนมาอาจก่อรัฐประหาร หากไม่มีการตรวจสอบข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งพรรคเอ็นเอลดี นำโดยนางออง ซาน ซูจี สามารถคว้าชัยได้เป็นสมัยที่สองด้วยคะแนนถล่มทลาย 83 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งและมีประชาชนบางส่วนถูกตัดสิทธิ์การลงคะแนนเสียง ซึ่งเป็นเหตุที่กองทัพอ้างเพื่อเข้ายึดอำนาจรัฐบาล
ขณะที่ รัฐธรรมนูญเมียนมา ชี้ว่า ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสามารถยึดอำนาจได้ต่อเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่บั่นทอนความปรองดอง ความมั่นคง และทำให้เสียอำนาจอธิปไตยเท่านั้น ซึ่งจะสามารถยึดอำนาจได้ต่อเมื่อประเทศอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศโดยผู้นำพลเรือน
ถึงแม้ว่าหลายชาติทั่วโลกทั้งในเอเชียและชาติตะวันตกจะออกประณามการยึดอำนาจ ที่บั่นทอนประชาธิปไตยในเมียนมา แต่ยังคงมีประชาชนบางส่วนได้ออกมาชุมนุมเดินขบวนแสดงความยินดี หลังกองทัพยึดอำนาจและจับกุมตัวนักการเมืองคนสำคัญของพรรคเอ็นแอลดี
ส่วนฝ่ายพรรคเอ็นแอลดี ได้เปิดเผยข้อความจากนางออง ซาน ซูจี เรียกร้องให้ชาวเมียนมาออกมาประท้วงการรัฐประหารในครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้ประเทศกลับไปอยู่ภายใต้เผด็จการ และทำให้สถานการณ์ระหว่างผู้ที่เห็นต่างของทั้งสองฝ่ายตึงเครียดมากขึ้นอย่างชัดเจน
กองทัพเมียนมาถึงท้าทายผลการเลือกตั้ง กลายเป็นเหตุรัฐประหาร
กองทัพได้กล่าวหาว่ามีความผิดปกติของรายชื่อผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงและการสวมสิทธิ์ โดยอ้างว่ามีผู้ลงคะแนนเสียงที่มีรายชื่อซ้ำกัน แต่หลังจากที่ได้แจ้งข้อร้องเรียนดังกล่าวกลับไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาจากคณะกรรมการการเลือกตั้งของเมียนมา
...
ขณะที่นางออง ซาน ซูจี ไม่ได้ออกความเห็นเกี่ยวกับข้อร้องเรียนดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนพรรคเอ็นแอลดี ออกโรงโต้กลับว่า ข้อกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งนั้นไม่มีมูล และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ได้
ส่วนพรรคที่ลงชิงชัยการเลือกตั้ง ราว 90 พรรค ในจำนวนนี้มี 17 พรรค ที่ได้ร้องเรียนความผิดปกติของการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งนอกจากพรรค ยูเอสดีพี ที่มีกองทัพหนุนหลัง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นพรรคเล็กทั้งสิ้น ส่วนผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งระบุว่าการลงคะแนนนั้นไม่มีความผิดปกติที่มีน้ำหนักพอจนสามารถนับเป็นเหตุการณ์โกงการเลือกตั้งได้
...
ขณะเดียวกันมีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่พรรคเอ็นแอลดี ภายใต้นางออง ซาน ซูจี ได้รับเลือกเป็นสมัยที่สอง และความนิยมของกองทัพเมียนมาที่ลดลง เป็นตัวที่ชี้ให้เห็นถึงการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในเมียนมาอย่างชัดเจน และเป็นส่วนที่โน้มน้าวให้กองทัพเชื่อว่ารัฐธรรมนูญ ที่ถูกมองว่าการันตีอำนาจของกองทัพนั้น ไม่สามารถสกัดกั้นความท้าทายทางการเมืองในประเทศได้อีกต่อไป บวกกับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย นั้นจะเกษียณอายุในเดือนมิถุนายนนี้ นำไปสู่การยึดอำนาจในครั้งนี้ที่อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้เมียนมาหวนกลับไปอยู่ภายใต้แกนนำของรัฐบาลทหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่พยายามหลีกหนีมาตลอดเกือบ 50 ปีอีกครั้ง.
ผู้เขียน: นัฐชา
ที่มา: Reuters, Thediplomat, Kyodo