ภาพสแกน 3 มิติฟอสซิลตัวอ่อน ไขปริศนาทารกไทแรนโนซอร์
ภาพสแกน 3 มิติฟอสซิลตัวอ่อน ไขปริศนาทารกไทแรนโนซอร์
ไทยรัฐฉบับพิมพ์
การค้นพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลไดโนเสาร์แต่ละครั้งนับเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเสมอ ไม่ใช่แค่เพียงได้รู้ถึงการมีอยู่ของไดโนเสาร์หลายสายพันธุ์ แต่ขนาดและลักษณะรวมถึงพฤติกรรมของไดโนเสาร์เหล่านั้น เป็นสิ่งที่นักบรรพชีวินวิทยาสนใจอย่างมากเช่นกัน

ข่าวแนะนำ
เมื่อเร็วๆนี้ ทีมนักบรรพชีวินวิทยานำโดย ดร.เกร็ก ฟันสตัน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ ในสกอตแลนด์ รายงานถึงการศึกษากระดูกขากรรไกรและกรงเล็บขนาดเล็กที่ขุดพบในแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ซึ่งการสร้างภาพสแกน 3 มิติของชิ้นส่วนฟอสซิลอันเปราะบางนั้น เผยให้เห็นว่าพวกมันเป็นของทารกไดโนเสาร์ไทแรนโนซอร์ (Tyrannosaurs) เครือญาติของไทนแรนโนซอรัส เร็กซ์ หรือทีเร็กซ์ เมื่อพิจารณาตามขนาดของฟอสซิลที่มีความยาวประมาณเกือบ 1 เมตรเมื่อพวกมันฟักออกมา เป็นไปได้ว่าทารกไทแรนโนซอร์ตัวนี้จะมีขนาดเท่าสุนัขพันธุ์บอร์เดอร์ คอลลี่ (The Border Collie) การวิเคราะห์ยังเผยให้เห็นว่ากระดูกขากรรไกรที่มีความยาว 3 เซนติเมตร รวมถึงคางที่เด่นชัดมีลักษณะเฉพาะของไทแรนโนซอร์ บ่งชี้ว่าลักษณะทางกายภาพเหล่านี้มีอยู่ก่อนที่สัตว์จะฟักออกมาเป็นตัว
ทั้งนี้ ไดโนเสาร์ไทแรนโนซอร์เป็นหนึ่งในสัตว์นักล่าที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาบนโลก พวกมันสามารถเติบโต มีขนาดมหึมาได้ถึง 12 เมตรและมีน้ำหนักราว 8,000 กิโลกรัม.