หินคาร์บอเนต (Carbonate) เป็นหินที่มีอยู่แพร่หลายบนโลก พบได้ในเทือกเขาโดโลไมต์สในอิตาลี บนเกาะรือเกนในเยอรมนี และในแนวปะการังของมหาสมุทร เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์โลกแห่งมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ในเยอรมนี รายงานการวิเคราะห์อุกกาบาตที่ตกลงมาทางตอนเหนือของเยอรมนีในเดือน ก.ย.2562 และได้พบกับสิ่งที่น่าประหลาดใจ
อุกกาบาตลูกนี้มีรูปร่างแปลกตา ถูกตั้งชื่อว่า “เฟล็นส์บวร์ค” (Flensburg) นักวิจัยตรวจพบร่องรอยกระบวนการของน้ำในสถานะของเหลวในอุกกาบาตดังกล่าว บ่งชี้ถึงการมีอยู่ของน้ำในยุคแรกสุดของดาวเคราะห์หินดวงเล็กๆ ที่เป็นบ้านเกิดของอุกกาบาตเฟล็นส์บวร์ค พร้อมกับระบุว่าอุกกาบาตลูกนี้เป็นชนิดของหินคาร์บอเนตที่เก่าแก่ที่สุดในระบบสุริยะของเรา นักวิจัยเผยว่าดาวเคราะห์น้อยแม่ของอุกกาบาตเฟล็นส์ บวร์คและเป็นแหล่งกำเนิดของหินคาร์บอเนตนั้น ก่อตัวขึ้นเพียง 3 ล้านปีหลังจากการกำเนิดขึ้นของวัตถุแข็งดวงแรกในระบบสุริยะ
ดังนั้น อุกกาบาตหินคาร์บอเนตเฟล็นส์บวร์ค จึงมีอายุมากกว่าหินคาร์บอเนตชนิดอื่นๆ ซึ่งเทียบเคียงจากอุกกาบาตประเภทคาร์บอนาเซียสคอนไดรท์ (carbonaceous chondrites หรือ C-type) โดยมีอายุมากกว่า 1 ล้านปี.
ภาพ Credit : A. Bischoff / M. Patzek, University of Munster