อินเดียอนุมัติวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของ 2 บริษัท เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินแล้ว โดยตั้งเป้าว่าในปีนี้จะฉีดให้ประชาชน 300 ล้านคน
สำนักข่าว บีบีซี รายงานในวันอาทิตย์ที่ 3 ม.ค. 2564 ว่า กรมควบคุมยาสามัญแห่งอินเดีย (Drugs Controller General of India: DCGI) อนุมัติวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัท แอสตราเซเนกา ร่วมกับ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และวัคซีนของบริษัทท้องถิ่น ‘ภารัต ไบโอเทค’ ให้ใช้งานในกรณีฉุกเฉินอย่างเป็นทางการแล้ว
นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี กล่าวว่า การอนุมัติวัคซีนครั้งนี้เป็น “จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ” โดยพวกเขาตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนให้ประชาชนประมาณ 300 ล้านคนเป็นอย่างน้อยในปีนี้ และเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่การแพทย์กว่า 90,000 คน ทั่วอินเดียเริ่มเตรียมความพร้อมและฝึกซ้อมการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนแล้ว
ทั้งนี้ วัคซีนของ แอสตราเซเนกา/ออกซ์ฟอร์ด ผลิตโดยบริษัทท้องถิ่นชื่อ ‘สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย’ ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยวัคซีนดังกล่าวมีชื่อในอินเดียว่า ‘โควิชีลด์’ (Covishield) โดยต้องฉีด 2 โดส ห่างกันราว 4-12 สัปดาห์ สามารถเก็บได้ในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ซึ่งตู้เย็นทั่วไปส่วนใหญ่ทำได้ ทำให้การขนส่งง่ายกว่าวัคซีนชนิดอื่น เช่น ของ ไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค ที่ต้องเก็บในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส
DCGI ระบุว่า ผู้ผลิตทั้ง 2 เจ้าส่งข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าวัคซีนของพวกเขานั้นปลอดภัยพอที่จะใช้ แต่บริษัท ภารัต ยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลว่า วัคซีน ‘โคแวคซิน’ (Covaxin) ของพวกเขามีประสิทธิภาพต่อต้านไวรัสโควิด-19 มากเพียงใด