การพยายามวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มต้นเป็นสิ่งท้าทายนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการคิดค้นเครื่องมือช่วยตรวจวินิจฉัยได้แม่นยำ ข่าวดีมีมาเมื่อทีมวิจัยนำโดย ศ.ชอย วอนชิก จาก Center for Molecular Spectroscopy and Dynamics ในเกาหลีใต้ ค้นพบความก้าวหน้าสำคัญของการถ่ายภาพด้วยแสงในเนื้อเยื่อลึก

ทีมวิจัยได้พัฒนากล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสงเป็นตัวช่วยในการทำให้มองเห็นภาพแบบใหม่ เรียกว่ากล้องจุลทรรศน์เมทริกซ์แบบสะท้อนแสง (reflection matrix microscope) โดยรวมกำลังอุปกรณ์และการคำนวณด้วยเทคโนโลยีระบบปรับสภาพตามแสง (adaptive optics-AO) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นสำหรับดาราศาสตร์บนพื้นดินเพื่อแก้ไขการคลาดทางแสง ในขณะที่กล้องจุลทรรศน์แบบคอนโฟคอล (confocal microscope) แบบเดิมจะวัดสัญญาณสะท้อนเฉพาะที่จุดโฟกัสของการส่องสว่าง และทิ้งแสงโฟกัสทั้งหมด แต่กล้องจุลทรรศน์เมทริกซ์แบบสะท้อนแสงจะบันทึกโฟตอนที่กระจัดกระจายทั้งหมดตามตำแหน่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่จุดโฟกัส โฟตอนที่กระจัดกระจายจะถูกแก้ไขด้วยการคำนวณจากอัลกอริธึมของระบบปรับสภาพตามแสงแบบใหม่

ผลลัพธ์จากเครื่องมือใหม่คือสามารถถ่ายภาพผ่านกะโหลกศีรษะของหนูโดยไม่บุบสลาย จนได้แผนที่ขนาดเล็กของโครงข่ายประสาทในเนื้อเยื่อสมองหนูแบบที่ไม่สูญเสียความละเอียดเชิงพื้นที่ จะช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบโครงสร้างภายในที่ละเอียดลึกภายในเนื้อเยื่อที่มีชีวิต และช่วยผลักดันในงานวิจัยทางประสาทวิทยา.