สิงคโปร์ชาติแรกขาย ‘เนื้อจากแล็บ’ อาหารแห่งอนาคตที่อาจใกล้กว่าที่คิด
ไทยรัฐออนไลน์
4 ธ.ค. 2563 07:20 น.
สิงคโปร์ชาติแรกขาย ‘เนื้อจากแล็บ’ อาหารแห่งอนาคตที่อาจใกล้กว่าที่คิด
ไทยรัฐออนไลน์4 ธ.ค. 2563 07:20 น.
- สิงคโปร์อนุญาตให้ขายเนื้อไก่ที่ผลิตจากห้องทดลองได้เป็นประเทศแรกของโลก เปิดทางให้อุตสาหกรรมเนื้อจากแล็บ ที่กล่าวกันว่าเป็นอาหารแห่งอนาคต
- เส้นทางของอุตสาหกรรมเนื้อจากแล็บยังต้องเผชิญความท้าทายอีกมากมาย ไม่ว่าจะเรื่องราคา การตรวจสอบ และการยอมรับจากผู้บริโภค
- แม้ตอนนี้สิงคโปร์จะเป็นเพียงประเทศเดียวที่อนุมัติการขายเนื้อจากแล็บ แต่เรื่องนี้อาจกลายเป็นแรงกระเพื่อม ที่ทำให้ประเทศอื่นๆ ทำตาม และเราอาจได้กินเนื้อประเภทนี้เร็วกว่าที่เคยคิดเอาไว้

ข่าวแนะนำ
สิงคโปร์ให้ขายเนื้อจากห้องทดลองชาติแรกของโลก
สิงคโปร์กลายเป็นประเทศแรกของโลก ที่อนุญาตให้มีการขาย เนื้อที่ผลิตจากเซลล์สัตว์ในห้องทดลอง (cultured meat) เพื่อการพาณิชย์ได้ เมื่อวันพุธที่ 2 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา โดยเปิดทางให้บริษัท บริษัท ‘Eat Just’ (อีท จัสต์) สามารถใช้เนื้อไก่สังเคราะห์ในผลิตภัณฑ์นักเก็ต ‘ชิกเกน ไบต์’ ของพวกเขาได้
สิงคโปร์เป็นประเทศเกาะขนาดเล็กที่ต้องนำเข้าอาหารถึง 90% พวกเขาจึงให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารภายในประเทศ เมื่อปี 2562 รัฐบาลประกาศแผน ‘30 ภายใน 30’ โดยมีเป้าหมายเพิ่มการผลิตอาหารในประเทศเป็น 30% ภายในปีค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ด้วยเทคโนโลยีการผลิตอาหารใหม่ๆ เช่น การทำไร่แนวตั้ง, เกษตรกรรมในน้ำ และล่าสุดคือ การผลิตเนื้อในห้องทดลอง
การอนุมัติของสิงคโปร์ยังถือเป็นหลักชัยสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อจากห้องทดลอง ที่หลายบริษัทเริ่มให้ความสนใจกันมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งนาย จอช เททริค ผู้ร่วมก่อตั้ง Eat Just เชื่อว่า นี่จะกลายเป็นตัวอย่างที่อาจทำให้หลายประเทศเจริญรอยตาม

เทรนด์เนื้อสังเคราะห์กำลังมา
มนุษย์ฆ่าสัตว์กินเป็นอาหารมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี แต่ในปัจจุบัน ความต้องการอาหารประเภทเนื้อทางเลือกจากเนื้อปกติกำลังเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มมีความกังวลเรื่องปัญหาสุขภาพ, สวัสดิภาพสัตว์ กับสิ่งแวดล้อม และหนึ่งในทางเลือกนั้นคือ การผลิตเนื้อจากเซลล์ของสัตว์ โดยไม่จำเป็นต้องฆ่า
นับตั้งแต่ ศ.มาร์ก โพสต์ ในสหราชอาณาจักร เปิดตัวเบอร์เกอร์เนื้อวัวสังเคราะห์จากห้องแล็บ ชิ้นแรกของโลกเมื่อปี 2556 บริษัทสตาร์ท-อัพ หลายสิบแห่งทั่วโลก เริ่มพัฒนาการผลิตเนื้อประเภทนี้ จนในปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 30 บริษัท ส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ ประเทศแถบยุโรป และอิสราเอล
เทคโนโลยีการผลิตเนื้อจากห้องแล็บในปัจจุบัน จะใช้วิธี นำสเต็มเซลล์จากกล้ามเนื้อของสัตว์ต้นแบบมาเพาะเลี้ยงในถังหมัก (bioreactor) ในอุณหภูมิที่เหมาะสม และใช้น้ำเลี้ยง (culture medium) ซึ่งสกัดจากพืช เป็นสารอาหารหล่อเลี้ยงให้สเต็มเซลล์เติบโต อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ผลิตได้เพียงเนื้อวัว, เนื้อไก่, เนื้อหมู และเนื้อปลาทูน่าเท่านั้น

ความท้าทายที่รออยู่
แม้ว่าการผลิตเนื้อสังเคราะห์จากห้องแล็บจะกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ ผู้ผลิตอาหารประเภทที่ยังต้องเผชิญความท้าทายอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องราคา เพราะการผลิตเนื้อในห้องทดลองมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าผลิตภัณฑ์จากพืชมาก
แม้ว่าการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้ต้นทุนการผลิตเนื้อสังเคราะห์จากห้องแล็บซึ่งเคยสูงถึง 478,993 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม (ราว 14.4 ล้านบาท) ลดลงเหลือ 8,164 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม (ราว 246,300 บาท) ในปี 2559 และคาดว่าจะเหลือเพียง 14.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563 (ราว 437 บาท) แต่ราคาก็ยังคงสูงกว่าไก่ทั่วไปตามท้องตลาด

ความท้าทายอย่างที่ 2 คือ การผ่านการรับรองจากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัย ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนที่ผลิตภัณฑ์อาหารใดๆ จะสามารถจำหน่ายถึงมือผู้บริโภคได้ เนื้อจากห้องแล็บมีข้อได้เปรียบเนื้อคือ มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคและยาปฏิชีวนะน้อยกว่าเนื้อสัตว์ปกติ ที่ต้องได้รับยาเพื่อป้องกันโรคต่างๆ ขณะที่ปริมาณสารอาหารก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องมีการตรวจสอบ ว่าใกล้เคียงเนื้อปกติหรือไม่
แต่การได้รับอนุมัติในสิงคโปร์ ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับอุตสหกรรมเนื้อสังเคราะห์ เพราะกระบวนการตรวจสอบความปลอดภัยที่สิงคโปร์ใช้ อาจถูกนำไปอ้างอิงในกระบวนการตรวจสอบของประเทศอื่นๆ ได้
และความท้าทายสุดท้าย คือการยอมรับจากผู้บริโภค โดยผลสำรวจของมหาวิทยาลัย ซิดนีย์ และมหาวิทยาลัย เซอร์ติน ในออสเตรเลีย ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน 2563 พบว่า คนเจเนอเรชั่น แซด (gen Z) หรือผู้มีอายุ 18-25 ปี ถึง 72% ยังไม่พร้อมที่จะยอมรับเนื้อจากห้องแล็บ โดยหลายคนกังวลในเรื่องความปลอดภัย ซึ่งความสำเร็จของ Eat Just ในสิงคโปร์อาจทำให้ผู้คนวางใจได้มากขึ้นว่า เนื้อประเภทนี้ปลอดภัย

เนื้อแห่งอนาคตที่อาจมาถึงเร็วกว่าที่คิด
แม้จะมีความท้าทายมากมายที่กำลังรอให้เนื้อจากห้องแล็บต้องพิสูจน์ แต่การบริษัทให้คำปรึกษา ‘AT Kearney’ คาดว่า ภายในปี 2583 หรือ 20 ปีข้างหน้า เนื้อส่วนใหญ่ที่คนในโลกนี้บริโภคจะไม่ได้มาจากการฆ่าสัตว์อีกต่อไปแล้ว โดยนาย คาร์สเติน แกร์ฮาร์ท กล่าวว่า
“การได้รับการยอมรับในศูนย์รวมนวัตกรรมอย่างสิงคโปร์ ในปี 2563 อาจผลักดันให้ตลาดอาหารประเภทนี้ เข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เร็วขึ้น โดยในระยะยาว เราเชื่อว่าเนื้อจากห้องแล็บจะแก้ปัญหาสุขภาพและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นระหว่างการผลิตเนื้อปกติได้” นายแกร์ฮาร์ท คาดด้วยว่า เนื้อจากห้องแล็บจะแทนที่เนื้อชิ้นแบบที่เราเห็นกันในทุกวันนี้ แต่ผลิตภัณฑ์ทางเลือกจากพืช ซึ่งราคาถูกกว่า จะมาแทนที่เนื้อเบอร์เกอร์และไส้กรอก

ด้านนาย ชิน หวง เลขาธิการใหญ่ของ ‘International Meat Secretariat’ องค์กรไม่แสวงกำไรที่เป็นตัวแทนอุตสาหกรรมการค้าเนื้อและปศุสัตว์ทั่วโลก เห็นด้วยว่า การอนุมัติขายเนื้อสังเคราะห์จากห้องทดลองเป็นช่วงเวลาที่มีนัยสำคัญมาก และแน่นอนว่า จะมีผลิตภัณฑ์คล้ายๆ กันจากบริษัทอื่นๆ ออกตามมา
“เราเชื่อว่าศักยภาพทางการตลาดของเนื้อจากห้องแล็บนั้นกว้างใหญ่ เพราะผู้บริโภคมีความกระตือรือร้นที่จะลิ้มลองรสชาติและประโยชน์ด้านสารอาหารของผลิตภัณฑ์จากสัตว์อยู่ตลอดเวลา แม้ว่าในมุมมองของเรา ผลิตภัณฑ์จากสัตว์จริงๆ จะตอบโจทย์ตรงนี้มากกว่า แต่เรายินดีต้อนรับการแข่งขันเสมอ”
ผู้เขียน: H2O
ที่มา: BBC, TheGuardian, agilitypr