การมีกล้องโทรทรรศน์ที่สามารถสำรวจท้องฟ้าได้ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์หรือหลายเดือน นั่นหมายความว่ากระบวนการนี้จะต้องทำซ้ำได้ครั้งแล้วครั้งเล่าในระยะเวลาอันสั้น โดยนักดาราศาสตร์จะตรวจจับและติดตามการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นระบบ
ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ที่สถาบัน CSI-RO (Commonwealth Scientific and Industrial Research Organization) เป็นสำนักงานด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติของออสเตรเลีย เผยถึงกล้องโทรทรรศน์วิทยุ Australian Square Kilometer Array Pathfinder (ASKAP) ที่จะสามารถทำแผนที่ประมาณ 3 ล้านกาแล็กซีในเวลาเพียง 300 ชั่วโมง โดยสำรวจเทียบเคียงท้องฟ้าเป็นเวลานานถึง 10 ปี กล้องโทรทรรศน์ตัวใหม่ที่ทรงพลังนี้ มีราคาประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท ติดตั้งในชนบทห่างไกลของออสเตรเลียเพื่อทำแผนที่พื้นที่กว้างใหญ่ของจักรวาลซึ่งจะเปิดทางสู่การค้นพบใหม่ๆ
สิ่งที่ทำให้กล้องโทรทรรศน์ตัวนี้มีความโดดเด่นก็คือภาพมุมมองกว้างของท้องฟ้าในแบบพาโนรามา ที่มีรายละเอียดคมชัดกว่าเดิม กล้องต้องรวมภาพ 903 ภาพเพื่อทำแผนที่ท้องฟ้าเทียบกับการสำรวจคลื่นวิทยุบนท้องฟ้าที่ต้องใช้ภาพนับหลายหมื่นชิ้น ความว่องไวของกล้องตัวใหม่จะทำให้เห็นวัตถุมากกว่าที่เคยเห็นในอดีต ซึ่งข้อมูลที่รวบรวมจากการสำรวจครั้งนี้จะช่วยให้นักดาราศาสตร์หาข้อมูลเกี่ยวกับวิวัฒนาการของการก่อตัวดวงดาว กาแล็กซี และหลุมดำ ได้เพิ่มขึ้น.