• สุดอาลัย หอดูดาวอาเรซีโบ กล้องโทรทรรศน์วิทยุเดี่ยวขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ในเปอร์โตริโกพังถล่ม หลังเปิดทำการมานานกว่าครึ่งศตวรรษ
  • มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯตัดสินใจอาจต้องปลดประจำการหอดูดาวอาเรซีโบ ก่อนจะถล่ม หลังทีมวิศวกรประเมินโครงสร้างเสียหายหนัก 
  • กล้องโทรทรรศน์อาเรซีโบสร้างตำนานการค้นพบทางดาราศาสตร์มากมาย ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ชี้การปิดฉากอาเรซีโบถือเป็นความสูญเสียที่ไม่อาจประเมินค่าได้ทางวิทยาศาสตร์

ใจหาย..หอดูดาวอาเรซีโบถล่ม หลังเปิดทำการมานับ 57 ปี

ถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ทางดาราศาสตร์ เมื่อหอดูดาวอาเรซีโบ (Arecibo Observatory) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่สุดในโลก ตั้งอยู่ใกล้เมืองอาเรซีโบ ทางตอนเหนือเปอร์โตริโก เครือรัฐของสหรัฐอเมริกา ได้พังถล่มลงมา หลังจากหอดูดาวอาเรซีโบได้ช่วยในการค้นพบที่สำคัญทางดาราศาสตร์มายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ นับ 57 ปี อีกทั้งยังสามารถยืนหยัดสู้กับหายนะภัยธรรมชาติที่รุนแรง ทั้งเฮอริเคน พายุโซนร้อน และแผ่นดินไหวมาได้

แต่แล้ว ข่าวร้ายของหอดูดาวอาเรซีโบก็มาถึง เมื่อแท่นอุปกรณ์หนัก 900 ตัน ที่ขึงตึงอยู่เหนือจานรับสัญญาณที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 305 เมตร ได้พังถล่มลงมาบนจานรับสัญญาณด้านล่าง จนได้รับความเสียหายอย่างหนัก เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 เพียงไม่กี่สัปดาห์ หลังจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ (National Science Foundation) หรือ NSF ซึ่งร่วมกับมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ในสหรัฐฯ ดำเนินการดูแลหอดูดาวแห่งนี้ ได้แจ้งข่าวร้ายของหอดูดาวอาเรซีโบ ว่า อาจต้องถูกปลดระวางเสียแล้ว เนื่องจากทีมวิศวกรตรวจพบความเสียหายหนักที่ระบบโครงสร้างที่ไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้เมื่อต้นปีนี้

...

‘แท่นอุปกรณ์ของจานรับสัญญาณขนาด 305 เมตร ที่หอดูดาวอาเรซีโบในเปอร์โตริโกได้พังถล่ม ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บ NSF กำลังทำงานกับบรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อประเมินสถานกรณ์ โดยภารกิจแรกของเราคือการรักษาความปลอดภัย NSF จะเปิดเผยรายละเอียดความคืบหน้ามากขึ้นเมื่อได้รับการยืนยันถึงสถานการณ์ของหอดูดาวอาเรซีโบ’ NSF แจ้งข่าวร้ายของหอดูดาวอาเรซีโบที่พังถล่มลงมาผ่านทางทวิตเตอร์

NSF ยังได้แจ้งด้วยว่า ความรู้สึกต่อเหตุการณ์แท่นอุปกรณ์ของจานรับสัญญาณยักษ์ที่หอดูดาวอาเรซีโบพังถล่มลงมาจนทำให้จานรับสัญญาณได้รับความเสียหายอย่างหนักว่า ทำให้ NSF รู้สึกเสียใจอย่างมาก โดยทาง NSF จะหาทางเพื่อช่วยเหลือชุมชนนักวิทยาศาสตร์ และรักษาความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับประชาชนในเปอร์โตริโก

หอดูดาวอาเรซีโบ เปิดทำการมายาวนานถึง 57 ปี ก่อนจะพังถล่มเมื่อ 1 ธ.ค.63
หอดูดาวอาเรซีโบ เปิดทำการมายาวนานถึง 57 ปี ก่อนจะพังถล่มเมื่อ 1 ธ.ค.63

ตัดสินใจปลดประจำการหอดูดาวอาเรซีโบ ก่อนจะพังถล่ม

Sethuraman Panchanathan ผู้อำนวยการ NSF กล่าวว่า พวกเราทุกคนรู้สึกเสียใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับหอดูดาวอาเรซีโบ แต่ต้องขอบคุณที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ 

‘เมื่อทีมวิศวกรได้ให้คำแนะนำต่อ NSF ว่าโครงสร้างของหอดูดาวอาเรซีโบไม่แข็งแรง และเป็นอันตรายต่อทีมทำงาน และเจ้าหน้าที่ของหอดูดาวอาเรซีโบนั้น พวกเราได้แจ้งคำเตือนนี้อย่างจริงจัง และยังย้ำความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และทีมงานที่หอดูดาวทุกคนที่เกี่ยวข้อง ตอนนี้พวกเราโฟกัสที่การประเมินความเสียหาย หนทางที่จะซ่อมแซมระบบปฏิบัติการ และส่วนอื่นๆ ของหอดูดาวอาเรซีโบ’ ผู้อำนวยการ NSF กล่าว

สำหรับสัญญาณร้ายของหอดูดาวอาเรซีโบ เกิดขึ้นตั้งแต่ ส.ค. 63 เมื่อสายเคเบิลเส้นหนึ่งในจำนวนหลายเส้นของแท่นอุปกรณ์ที่ขึงตึงจานรับสัญญาณได้ขาดลง และสายเคเบิลเส้นนี้ได้ฟาดลงบนจานรับสัญญาณจนได้รับความเสียหาย ทำให้ทีมวิศวกรได้มีการประเมินและวางแผนจะซ่อมแซม แต่แล้วสายเคเบิลอีกเส้นหนึ่งก็ขาดลงมาอีกเมื่อวันที่ 6 พ.ย.63 ทำให้จานรับสัญญาณได้รับความเสียหายมากกว่าเดิม จึงทำให้ทีมวิศวกรได้ตรวจความเสียหาย และพบว่าโครงสร้างของกล้องโทรทรรศน์วิทยุยักษ์นี้อาจพังถล่มลงมา เนื่องจากเกิดความเสียหายรุนแรง และสายเคเบิลหลายเส้นก็ไม่ได้แข็งแรงอย่างที่คาดไว้

และแล้วการตัดสินใจสำคัญของ NSF มาถึงเมื่อจากการตรวจสอบทบทวนล่าสุดพบว่าความเสียหายที่เกิดกับกล้องโทรทรรศน์วิทยุยักษ์นี้ไม่สามารถที่จะทรงตัวต่อไปได้โดยไม่มีความเสี่ยงกับเจ้าหน้าที่และทีมก่อสร้าง จึงนำไปสู่การตัดสินใจที่จะต้องปลดประจำการหอดูดาวอาเรซีโบ หลังจากเปิดทำการมานานถึง 57 ปี

...


คือตำนานการค้นพบที่น่าตื่นตะลึงมากมายทางดาราศาสตร์

หอดูดาวอาเรซีโบ ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์เดี่ยวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสร้างขึ้นมา และเริ่มเปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2506 นั้นได้สร้างตำนานการค้นพบมากมายทางดาราศาสตร์ที่สำคัญๆ ทั้งในชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ของโลกของเรา ไปจนถึงระบบสุริยจักรวาล และดาวเคราะห์อื่นๆ ในห้วงจักรวาลที่อยู่นอกเหนือจากระบบสุริยะของเรา

กล้องโทรทรรศน์ยักษ์อาเรซีโบนี้ได้ช่วยสนับสนุนบรรดานักดาราศาสตร์ และส่งเสริมการค้บพบที่สำคัญทางดาราศาสตร์จากคลื่นวิทยุ เช่นเดียวกับการวิจัยระบบดาวเคราะห์ และระบบสุริยะ รวมถึงคลื่นความโน้มถ่วง โดยกล้องโทรทรรศน์อาเรซีโบได้มีบทบาทสำคัญในการค้นพบดาวเคราะห์ดวงแรกนอกระบบสุริยะของเรา และยังได้ช่วยเหลือนักดาราศาสตร์ในการระบุดาวเคราะห์น้อยอันตรายที่มีเส้นทางโคจรพุ่งมายังโลก

นอกจากนั้น กล้องโทรทรรศน์อาเรซีโบ ยังช่วยในการค้นพบ ‘binary pulsar’ (ไบนารี่ พัลซาร์) ครั้งแรกในปี 2517 ไปจนถึงสนับสนุนภารกิจยานไวกิ้งไปสำรวจดาวอังคารของนาซา รวมถึงช่วยในการทำแผนที่ด้วยเรดาร์พื้นผิวดาวพฤหัสบดีครั้งแรก และการค้นพบทางดาราศาสตร์อื่นๆ อีกมากมาย

ขณะเดียวกัน ความยิ่งใหญ่ของกล้องโทรทรรศน์อาเรซีโบ ยังถูกขอใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องดัง ‘เจมส์ บอนด์’ ตอน ‘Golden Eye’ ที่ถ่ายทำเสร็จในปี 2509

...


นักวิทย์สุดเสียใจ ปิดฉากหอดูดาวอาเรซีโบ

หลังจาก NSF ได้ประกาศตัดสินใจปลดประจำการหอดูดาวอาเรซีโบเมื่อ พ.ย. ก่อนจะพังถล่มลงมานั้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตลอดจนผู้คนที่สนใจทางดาราศาสตร์เสียใจเป็นอย่างมาก ถึงขนาดมีการรณรงค์ล่ารายชื่อทาง change.org เรียกร้องให้มีการรักษาหอดูดาวอาเรซีโบนี้ต่อไป และมีคนร่วมลงชื่อแล้วกว่า 35,000 รายชื่อ

Jonathan Lunine ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ และดำรงตำแหน่งประธานกองดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ออกแบบและสร้างกล้องโทรทรรศน์อาเรซีโบ ได้ออกแถลงการณ์ด้วยความเสียใจ ยกย่องกล้องโทรทรรศน์อาเรซีโบ คือ กล้องโทรทรรศน์วิทยุที่มีประสิทธิภาพอย่างเหลือเชื่อมานานเกือบ 60 ปี

‘สำหรับบรรดานักวิทยาศาสตร์และวิศวกรซึ่งกล้าที่จะฝันและตระหนักถึงมัน สำหรับบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่ได้ค้นพบทางดาราศาสตร์ครั้งใหม่ด้วยกล้องวิทยุโทรทรรศน์อันทรงประสิทธิภาพอย่างเป็นเอกลักษณ์นี้ และสำหรับเยาวชนทุกคนซึ่งได้รับแรงบันดาลใจที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์จากการได้เห็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ยิ่งใหญ่ตั้งอยู่ใจกลางเกาะเปอร์โตริโก การปิดฉากของอาเรซีโบคือความสูญเสียที่ไม่อาจประเมิณค่าได้’...

สภาพความเสียหายของจานรับสัญญาณของกล้องโทรทรรศน์อาเรซีโบ หลังแท่นยึดอุปกรณ์พังถล่ม
สภาพความเสียหายของจานรับสัญญาณของกล้องโทรทรรศน์อาเรซีโบ หลังแท่นยึดอุปกรณ์พังถล่ม

...

ผู้เขียน : เวนิส

กราฟิก : Jatuphan Sooksamphun

ที่มา : CNN, NBC ,BBC