• คามาลา แฮร์ริส สร้างประวัติศาสตร์เป็นสตรีคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และยังได้ชื่อว่า เป็นลูกครึ่งเอเชียคนแรก และชาวอเมริกันผิวสีคนแรกที่ได้ครองตำแหน่งดังกล่าวด้วย
  • เธอก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองระดับชาติของสหรัฐฯ ครั้งแรกในปี ค.ศ.2016 ในฐานะวุฒิสมาชิกหญิงของรัฐแคลิฟอร์เนีย และถึงแม้จะดำรงตำแหน่งดังกล่าวเพียง 4 ปี แต่ก็อยู่ในกลุ่มบุคคลที่โดดเด่นของพรรคเดโมแครต
  • การขึ้นดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของ คามาลา แฮร์ริส เป็นการจุดประกายความหวังทางการเมืองของผู้หญิงทั่วประเทศอีกครั้ง หลังนางฮิลลารี คลินตันต้องแพ้ให้แก่ประธานาธิบดีทรัมป์ ในการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน

สุนทรพจน์แรกที่กินใจ

“ดิฉันอาจจะเป็นผู้หญิงคนแรกที่นั่งในตำแหน่งนี้ แต่ดิฉันจะไม่ใช่คนสุดท้ายแน่นอน” นี่คือคำกล่าวบางช่วงบางตอนของ นางคามาลา แฮร์ริส ว่าที่รองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ ในขณะที่เธอขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ประกาศชัยชนะร่วมกับนายโจ ไบเดน ซึ่งนอกจากเธอจะสร้างประวัติศาสตร์เป็นสตรีคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯแล้ว เธอยังได้ชื่อว่า เป็นลูกครึ่งเอเชียคนแรก และชาวอเมริกันผิวสีคนแรกที่ได้ครองตำแหน่งดังกล่าวด้วย ถือเป็นการพลิกประวัติศาสตร์การเมืองครั้งสำคัญ ที่ก่อนหน้านี้มีเพียงผู้ชายเท่านั้นที่ได้ดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองของสหรัฐฯ

นางคามาลา แฮร์ริสสวมชุดสูทขาว ในวันแถลงประกาศชัยชนะ
นางคามาลา แฮร์ริสสวมชุดสูทขาว ในวันแถลงประกาศชัยชนะ

...

นอกจากคำกล่าวสุนทรพจน์ที่กินใจ และจุดประกายความหวังของผู้หญิงในวันประกาศชัยชนะพร้อมกับนายไบเดนแล้ว ซีเอ็นเอ็นยังวิเคราะห์ด้วยว่า การที่นางแฮร์ริส แต่งชุดสูทกางเกงสีขาวทั้งตัวในวันประกาศชัยชนะ ก็ยังเป็นการส่งสัญญาณบ่งบอกถึงความหมายที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น เนื่องจากสีขาวเป็นสัญลักษณ์ของสิทธิในการออกเสียง และยังหมายถึงความบริสุทธิ์ทางศีลธรรม การต่อสู้โดยอหิงสาไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งมีนักการเมืองหญิงหลายคนของสหรัฐอเมริกาเคยสวมชุดขาวเพื่อสื่อความหมายเหล่านี้มาแล้ว ทั้งเชอร์ลีย์ คิสฮอล์ม ผู้หญิงผิวสีคนแรกที่ได้รับเลือกเข้าไปทำหน้าที่ในสภาคองเกรสเมื่อปี 1968 หรือ เจอรัลดีน เฟอร์ราโร ที่สวมชุดขาวในขณะที่เธอตอบรับที่จะเป็นคู่ชิงรองประธานาธิบดีให้แก่ วอลเตอร์ มอนเดล ในปี 1984 นอกจากนี้ยังมีนางฮิลลารี คลินตัน ที่สวมชุดสูทสีขาวล้วน ในวันที่เธอตอบรับพรรคเดโมแครตลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 ด้วย

เสียงหัวเราะและตัวตนของคามาลา แฮร์ริส


ด้วยเสียงหัวเราะที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้คลิปที่เธอโทรศัพท์ไปแสดงความยินดีกับนายโจ ไบเดน ทันทีที่ทราบว่าพวกเขาคว้าชัยชนะ เป็นคลิปไวรัลที่มีคนแชร์หลักล้านคนในเวลาอันรวดเร็ว และยังบ่งบอกถึงบุคลิกความติดดิน สบายๆ และจริงใจ ของผู้หญิงคนนี้ได้เป็นอย่างดี

ภูมิหลังที่สร้างตัวตนคามาลา แฮร์ริส

คามาลา แฮร์ริส เกิดวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ.1964 ที่เมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอเป็นตัวแทนแห่งความหลากหลาย เพราะมาจากครอบครัวผู้อพยพที่มีความแตกต่างกันทั้งเชื้อชาติ และศาสนา โดยพ่อของคามาลาเป็นชาวจาไมกา ส่วนแม่ของเธอเป็นชาวอินเดีย ทั้งคู่พบรักกันระหว่างเดินทางมาศึกษาต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย จนมีทายาท 2 คน คือ คามาลา และมายาน้องสาวของเธอ แต่ต่อมาพ่อและแม่ของแฮร์ริสหย่าขาดจากกันเมื่อเธออายุเพียง 5 ขวบ ทำให้เธอต้องอยู่ในความดูแลของ ชยามาลา โกปาลัน แฮร์ริส ผู้เป็นมารดาเพียงลำพัง

...

นางแฮร์ริสทักทายผู้สนับสนุน ขณะไปหาเสียงที่เพนซิลเวเนีย
นางแฮร์ริสทักทายผู้สนับสนุน ขณะไปหาเสียงที่เพนซิลเวเนีย

คามาลาเขียนเล่าไว้ในหนังสือ The Truths We Hold หนังสืออัตชีวประวัติของเธอว่า แม่ของเธอเข้าใจดีว่าเธอกำลังเลี้ยงดูลูกสาวผิวดำทั้งสองคน และรู้ว่าดินแดนที่เป็นบ้านเกิดของพวกเธอแห่งนี้จะมองมายาและคามาลาเป็นเด็กผิวดำ แม่ของเธอจึงตั้งใจที่เลี้ยงลูกสาวของเธอทั้งสองคนให้เติบโตขึ้นมาเป็นสาวผิวดำที่มีความมั่นใจ และภาคภูมิใจในสีผิวของตัวเอง ซึ่งการเลี้ยงดูจากแม่ของเธอก็หล่อหลอมให้เธอเติบโตมาด้วยความมั่นใจ ภาคภูมิใจกับตัวตน และมองตัวเองเป็นชาวอเมริกันคนหนึ่ง

...

คามาลาเคยให้สัมภาษณ์กับวอชิงตันโพสต์เมื่อปี 2019 ว่า นักการเมืองไม่ควรจะต้องถูกจำกัดด้วยสีผิวหรือภูมิหลังของพวกเขา จุดยืนของเธอ คือ ตัวเธอก็คือตัวเธอ และเธอรู้สึกดีกับสิ่งที่เป็นอยู่ แม้ว่าคนอื่นอาจจะนึกไม่ออก แต่เธอสบายใจกับตัวเองอย่างที่สุด

ปัจจุบันคามาลาใช้ชีวิตคู่อยู่กับ นายดักลาส เอ็มฮอฟฟ์ ทนายแห่งวงการบันเทิงในแคลิฟอร์เนีย โดยเขามีลูกติดมาจากภรรยาเก่า 2 คน

นางคามาลา แฮร์ริส และนายดักลาส เอ็มฮอฟฟ์ สามี ขณะไปร่วมการหาเสียงของนายโจ ไบเดน ที่รัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อ 2 พ.ย. 2020
นางคามาลา แฮร์ริส และนายดักลาส เอ็มฮอฟฟ์ สามี ขณะไปร่วมการหาเสียงของนายโจ ไบเดน ที่รัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อ 2 พ.ย. 2020


เส้นทางสู่ทำเนียบขาว

...

แฮร์ริส สำเร็จการศึกษาด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในเมืองเฮสติงส์ เธอเริ่มต้นชีวิตการทำงานในสำนักงานอัยการเขตอาลาเมดา และกลายเป็นอัยการเขต อัยการสูงสุดของซานฟรานซิสโกในปี 2003 ก่อนจะได้รับเลือกให้เป็นผู้หญิงคนแรก และคนผิวสีคนแรกที่ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย

แฮร์ริสนับเป็นหนึ่งในดาวรุ่งที่น่าจับตาของพรรคเดโมแครต จนได้โอกาสเข้าสู่สนามเลือกตั้งในตำแหน่งวุฒิสมาชิกสหรัฐฯในรัฐแคลิฟอร์เนีย ปี 2016 และกลายเป็นหญิงผิวสีคนแรกจากแคลิฟอร์เนียที่ได้เข้าไปทำหน้าที่ในวุฒิสภา

จากประสบการณ์การทำงานในกระบวนการยุติธรรมมากว่า 30 ปี กับการร่วมผลักดันเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย หลายฝ่ายจึงคาดหวังให้ผู้หญิงที่ชื่อ คามาลา แฮร์ริส จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนให้รัฐบาลภายใต้การนำของนายไบเดน สามารถเดินหน้าปฏิรูปและทำให้สังคมอเมริกันมีความเท่าเทียมกัน ตามคำมั่นที่นายไบเดนเคยให้ไว้.

ผู้เขียน : อาจุมม่าโอปอล