ฟันของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ยุคแรกไขปริศนาอายุ
ไทยรัฐฉบับพิมพ์
20 ต.ค. 2563 12:01 น.
ฟันของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ยุคแรกไขปริศนาอายุ
ไทยรัฐฉบับพิมพ์20 ต.ค. 2563 12:01 น.
มีหลักฐานก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเริ่มมีเลือดอุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ จากปลายยุคเพอร์เมียน (Permian) เมื่อกว่า 270 ล้านปีก่อน ซึ่งนักวิจัยเคยคิดกันว่าลักษณะสำคัญของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งรวมถึงสัตว์เลือดอุ่น ล้วนมีวิวัฒนาการไปพร้อมๆกัน
ล่าสุดนักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยบริสตอล ในอังกฤษ และมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ในฟินแลนด์ ค้นพบสิ่งที่ตรงกันข้ามและเห็นได้ชัดเจนว่า แม้ว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโบราณ จะมีสมองที่ใหญ่และมีพฤติกรรมที่ก้าวหน้า แต่พวกมันก็ไม่ได้อายุสั้นและตายตั้งแต่ยังเด็ก ทว่ากลับอายุยืนยาวขึ้นคล้ายกับสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก เช่น กิ้งก่า จากการใช้เทคโนโลยีเอกซเรย์ศึกษาซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลฟันอายุ 200 ล้านปีของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อย่าง Morganucodon และ Kuehneotherium ซึ่งอาศัยร่วมยุคกับไดโนเสาร์ นักบรรพชีวินวิทยาเผยว่าการสร้างรากฟันดิจิทัลขึ้นมาใหม่ในรูปแบบ 3 มิติ บ่งชี้ว่า Morganucodon มีอายุได้ถึง 14 ปี ส่วน Kuehneotherium อายุยืนถึง 9 ปี นับเป็นเรื่องน่าประหลาดใจเพราะอายุขัยของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโบราณคู่นี้ยาวนานกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเท่ากันในปัจจุบันประมาณ 1-3 ปี
ข่าวแนะนำ
นอกจากนี้ ยังพบว่าในกระดูกต้นขาของ Morganucodon นั้นหลอดเลือดมีอัตราการไหลสูงกว่ากิ้งก่าที่มีขนาดเท่ากันเล็กน้อย แต่ต่ำกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในปัจจุบันมาก.
(ภาพประกอบ Credit : Nuria MelisaMoralesGarcia Morganucodon based on BobNicholls / Palaeocreations 2018 model)