พบซากดาวเทียมของรัสเซีย และชิ้นส่วนจรวดของจีนที่เป็นขยะอวกาศโคจรอยู่รอบโลก มีโอกาสที่จะชนกัน หรือพุ่งเฉี่ยวกันในระยะประชิดในวันนี้ ผู้เชี่ยวชาญกำลังเร่งประเมินผลกระทบต่อโลก
"ลีโอ แล็บส์" (LeoLabs) บริษัทรวบรวมข้อมูลเรดาร์และสอดส่องขยะอวกาศนอกโลก เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าวัน 16 ต.ค. ตามเวลาในไทย ซากดาวเทียม "คอสมอส-2004" (Kosmos-2004) ของรัสเซีย และซากชิ้นส่วนจรวด "ลองมาร์ช โฟร์ซี"หรือ "ฉางเจิ้ง โฟร์ซี" ของจีน จะพุ่งเข้าชนกัน หรือโคจรผ่านเข้าใกล้กันในระยะเฉียดฉิวเพียง 25 เมตร ที่ความเร็วกว่า 14.66 กิโลเมตรต่อวินาที บริเวณเหนือมหาสมุทรแอนตาร์กติกา
ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า หากขยะอวกาศ 2 ชิ้นที่มีน้ำหนักรวมกันกว่า 2.5 ตัน เกิดการชนกัน จะทำให้เกิดการแตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ก่อให้เกิดขยะอวกาศเพิ่มอีกประมาณ 20% ของจำนวนขยะอวกาศทั้งหมดกว่า 170 ล้านชิ้นที่กำลังโคจรอยู่รอบโลก ในจำนวนนี้มีกว่า 900,000 ชิ้นที่มีขนาดใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของบรรดาดาวเทียมที่โคจรอยู่
ทางด้าน ดร.โมริบา จาห์ นักกลศาสตร์วงโคจร แห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส ในสหรัฐฯเปิดเผยว่า จากการคำนวณพบว่าขยะอวกาศทั้งสองชิ้น มีโอกาสพุ่งเข้าใกล้กันในระยะ 70 เมตร ขณะที่บริษัท "แอโรสเปซ คอร์เปอเรชั่น" ก็คำนวณผลออกมาใกล้เคียงกัน
ปัจจุบันนี้ แต่ละปีหลายประเทศทั่วโลกมีการส่งดาวเทียมขึ้นวงโคจรจำนวนมาก ทำให้เกิดความวิตกกังวลมานานแล้วว่าอาจดาวเทียมมีโอกาสที่จะชนกันได้ โดยสัปดาห์นี้ องค์การการบินอวกาศยุโรป เพิ่มออกรายงานประจำปีว่าด้วยสิ่งแวดล้อมในอวกาศ โดยเน้นย้ำปัญหาขยะอวกาศที่กำลังเกิดขึ้น โดยในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีขยะอวกาศชนกันปีละประมาณ 12 ครั้ง ขณะที่สถิติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ.
...