น้ำที่อยู่ในสถานะของเหลวจะมีความสำคัญต่อชีววิทยา ดังนั้น การค้นหาร่องรอยของน้ำบนดาวดวงอื่นจึงท้าทายนักวิทยาศาสตร์อย่างมาก หวังที่จะพบสิ่งมีชีวิตเช่นกัน โดยเฉพาะดาวอังคารที่เป็นหมุดหมายยอดนิยมของการสำรวจ เชื่อกันว่าหลายพันล้านปีก่อนมีแม่น้ำไหลมารวมกันในทะเลสาบบนพื้นผิวดาวอังคาร ทว่าจากนั้นดาวอังคารก็สูญเสียชั้นบรรยากาศไปมาก จนน้ำไม่อาจอยู่บนพื้นผิวดาวได้นาน

ในปี พ.ศ.2561 นักวิจัยใช้ข้อมูลจากเครื่องเรดาร์ Marsis บนยานอวกาศมาร์ส เอ็กซ์เพรสส์ ขององค์การอวกาศยุโรป ที่ส่งไปโคจรรอบดาวอังคารเมื่อเดือน ธ.ค.2546 ยานได้ส่งข้อมูลพบสัญญาณของทะเลสาบใต้ผิวดาว กว้าง 20 กม. ลึก 1.5 กม. เครื่องเรดาร์ Marsis ชี้ว่าการมีอยู่ของทะเลสาบน้ำแข็งอาจเกิดจากสภาวะพิเศษ เช่น การปรากฏตัวของภูเขาไฟใต้แผ่นน้ำแข็ง อีกทั้งการค้นพบทั้งระบบของทะเลสาบบ่งบอกว่ากระบวนการก่อตัวของทะเลสาบค่อนข้างเรียบง่ายและธรรมดา และทะเลสาบเหล่านี้อาจมีอยู่มาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล

นักวิจัยเผยว่าทะเลสาบหลักถูกล้อมรอบด้วยแหล่งน้ำที่เป็นของเหลวขนาดเล็กกว่า และเชื่อว่าน้ำที่เป็นของเหลวต้องมีเกลือละลายอยู่ในความเข้มข้นสูง เกลือเคมีนี้แตกต่างจากเกลือที่เรากินโดยทั่วไป เพราะมันสามารถลดจุดเยือกแข็งของน้ำได้อย่างมาก แถมยังคงสภาพของเหลวได้ที่อุณหภูมิ -123 องศาเซลเซียส ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นไปได้ที่ทะเลสาบจะรักษาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตที่อาจวิวัฒนาการมาตั้งแต่ช่วงเวลาที่ดาวอังคารมีบรรยากาศหนาแน่น สภาพอากาศที่ไม่แข็งกร้าวรุนแรงและมีน้ำที่เป็นของเหลวบนพื้นผิวคล้ายกับโลกยุคแรกๆ.


(ภาพจาก : NASA/JPL/Malin Space Science Systems)