รัฐบาลสหรัฐฯ ฝรั่งเศส และรัสเซีย ในฐานะ ประธานร่วมของกลุ่มมินสก์ ที่ก่อตั้งตามมติขององค์การความมั่นคงและความร่วมมือยุโรป (โอเอสซีอี) เมื่อปี 2535 เพื่อช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนานนับ 10 ปี ระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน ออกแถลงการณ์เมื่อ 2 ต.ค. ประณามการสู้รบที่ดำเนินมาอย่างดุเดือด ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.และเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่าย ยุติการสู้รบทันที แล้วหันหน้ามาเจรจากัน ขณะที่ตุรกี ซึ่งเป็นพันธมิตรของอาเซอร์ไบจานก็ปฏิเสธข้อเรียกร้องให้หยุดยิงเช่นกัน ทั้งนี้ นากอร์โน-คาราบัคห์ เป็นส่วนหนึ่งของอาเซอร์ไบจานแต่ปกครองโดยชาวอาร์เมเนียที่แบ่งแยกดินแดน ที่ผ่านมามีการเจรจาหลายครั้งแต่ไม่เป็นผล
หลังแถลงดังกล่าวกระทรวงต่างประเทศอาร์เมเนียกล่าวว่า พร้อมที่จะทำงานร่วมกับผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศเพื่อยุติการสู้รบกับอาเซอร์ไบจาน โดยระบุว่า “พร้อมที่จะมีส่วนร่วม” กับฝรั่งเศส รัสเซีย และสหรัฐฯ “เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาหยุดยิงขึ้นใหม่” ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทั้งอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานต่างปฏิเสธที่จะเจรจา โดยอาเซอร์ไบจานยืนยัน จะหยุดยิงเมื่ออาร์เมเนียถอนทหารออกไป
...
ทั้งนี้ การต่อสู้ระหว่าง 2 ฝ่ายยังคงดำเนินต่อไปเป็นวันที่ 6 และทวีความรุนแรงแม้ว่านานาชาติจะมีความกังวลมากขึ้นก็ตาม ช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 2 ต.ค. ตามเวลาท้องถิ่น รัฐบาลอาร์เมเนียกล่าวว่าได้ยิงโดรนของอาเซอร์ไบจานตกหลายลำและถูกทำลายจนหมด บริเวณใกล้กรุงเยเรวานเมืองหลวงของอาร์เมเนีย ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมนากอร์โน-คาราบัคห์รายงานว่ามีทหารเสียชีวิตจากการสู้รบเพิ่มขึ้น 54 นาย ยิ่งเพิ่มความกังวลจากนานาชาติว่าการต่อสู้จะขยายสู่สงครามระหว่างประเทศ ขณะที่มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วเกือบ 200 ราย รวมพลเรือนและผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน รวมถึงนักข่าวชาวฝรั่งเศส 2 คน บ้านเมืองสิ่งก่อสร้างถูกทำลาย
ด้านฝรั่งเศสกล่าวโทษอาเซอร์ไบจานว่าเป็นผู้ริเริ่มความขัดแย้งครั้งนี้โดยได้รับการสนับสนุนจากตุรกีซึ่งเป็นพันธมิตรกันมายาวนาน ขณะที่รัฐบาลตุรกียืนยันว่าประเทศกลุ่ม OSCE ทั้ง 3 อย่างสหรัฐฯ ฝรั่งเศส และรัสเซีย ไม่ควรมีบทบาทในการเจรจาสันติภาพ โดยประธานาธิบดีเรเซป ทายยิบ เออร์โดกัน ของตุรกี กล่าวว่า การหยุดยิงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ “ผู้ยึดครองชาวอาร์เมเนีย” ถอนตัวออกจากพื้นที่พิพาท
ต่อมาโฆษกกระทรวงกลาโหมอาร์เมเนีย เผยด้วยว่า กองกำลังอาเซอร์ไบจานได้เปิดการโจมตีที่สเตพานาเกิร์ต เมืองเอกของนากอร์โน-คาราบัคห์ ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บในหมู่พลเรือนและหน่วยกู้ภัย แต่ไม่ได้ระบุว่าโจมตีแบบใดหรือใช้อาวุธอะไร.