• ความขัดแย้งกันระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจาน หลักๆ อยู่ที่การแย่งชิงอธิปไตยเหนือดินแดนที่เรียกว่า ‘ภูมิภาค นากอร์โน-คาราบัค’ ซึ่งชนวนเหตุของเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อกว่า 100 ปีก่อน

  • อาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจาน เปิดฉากปะทะกันอีกครั้งเมื่อ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา แต่ตัวละครสำคัญในการต่อสู้ครั้งนี้อาจไม่ใช่ทั้ง 2 ประเทศ แต่เป็น ตุรกี

  • สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจุดความกังวลว่า การปะทะกันระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจาน อาจลุกลามบานปลายกลายเป็นการต่อสู้ขนาดใหญ่ยิ่งขึ้น
ภูมิภาค นากอร์โน-คาราบัค อยู่ในอาเซอร์ไบจาน แต่ประชากรส่วนใหญ่กลับเป็นชาวอาร์เมเนีย
ภูมิภาค นากอร์โน-คาราบัค อยู่ในอาเซอร์ไบจาน แต่ประชากรส่วนใหญ่กลับเป็นชาวอาร์เมเนีย

พื้นที่พิพาทจุดเริ่มต้นของปัญหา

...

ความขัดแย้งกันระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจาน หลักๆ อยู่ที่การแย่งชิงอธิปไตยเหนือดินแดนที่เรียกว่า ‘ภูมิภาค นากอร์โน-คาราบัค’ พื้นที่ซึ่งไม่มีทางออกสู่ทะเลขนาดประมาณ 4,400 ตร.กม. ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอาเซอร์ไบจาน แต่ประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธ์ุอาร์เมเนีย

ข้อพิพาทในดินแดนแห่งนี้ต้องย้อนอดีตนานกว่า 100 ปี ตั้งแต่สมัยการชิงอิทธิพลในภูมิภาคคอเคซัสใต้ ระหว่างชาวอาร์เมเนียซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ กับชาวเติร์กอาเซอรี (อาเซอร์ไบจาน) ผู้นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งอาศัยอยู่ในคาราบัคมานานหลายศตวรรษก่อนหน้านั้น โดยชาวอาร์เมเนียมองว่าดินแดนแห่งนี้คือจังหวัด ‘อาร์ทซัค’ ในอาณาจักรยุคโบราณของพวกเขา ขณะที่อาเซอร์ไบจานถือว่าคาราบัค เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาวอาเซอรี ที่อยู่ในเมืองซูซา ในภูมิภาค นากอร์โน-คาราบัค ซึ่งสามารถตามรอยย้อนกลับไปได้ถึงช่วงศตวรรษที่ 18

ในช่วงปี ค.ศ. 1918 หลังจากอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากรัสเซีย พวกเขาก็ก่อสงครามแย่งชิงพื้นที่หลายจุดรวมทั้งคาราบัค กระทั่งปี 1920 ทั้งสองประเทศกลายเป็นส่วนหนึ่งของสภาพโซเวียต ซึ่งต้องการผูกมิตรกับตุรกีตุรกีเพื่อสร้างดินแดนคอมมิวนิสต์ สุดท้าย โจเซฟ สตาลิน จึงยก คาราบัค ให้อาเซอร์ไบจานที่ใกล้ชิดกับตุรกีควบคุม โดยก่อตั้งเป็นแคว้นปกครองตนเอง นากอร์โน-คาราบัค ในปี 1923 และด้วยอำนาจของโซเวียตสถานการณ์จึงอยู่ในความสงบมานานหลายสิบปี

รถถังของโซเวียตลาดตระเวน พื้นที่ทางเหนือของ นากอร์โน-คาราบัค เมื่อ 15 ม.ค. 1990 หลังอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานต่อสู้กันอย่างหนัก จนต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน
รถถังของโซเวียตลาดตระเวน พื้นที่ทางเหนือของ นากอร์โน-คาราบัค เมื่อ 15 ม.ค. 1990 หลังอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานต่อสู้กันอย่างหนัก จนต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน

แต่สันติภาพมักไม่ยั่งยืน สหภาพโซเวียตเริ่มล่มสลายในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ชาวอาร์เมเนียซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในคาราบัค เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อขอให้ยกการปกครองแคว้นปกครองตนเองแห่งนี้แก่อาร์เมเนียโซเวียต ในเดือนสิงหาคม 1987 พวกเขาส่งคำร้องซึ่งมีการลงลายมือชื่อหลายหมื่นชื่อแก่รัฐบาลมอสโก แต่ถูกปฏิเสธ ทำให้เกิดการประท้วงนำไปสู่การปะทะกันครั้งแรกระหว่างชาวอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานในคาราบัคในปี 1988

การปกครองโดยตรงของโซเวียตในแคว้นนากอร์โน-คาราบัค สิ้นสุดลงในวันที่ 29 พ.ย. 1989 ทำให้ภูมิภาคนี้กลับมาอยู่ใต้การบริหารของอาเซอร์ไบจาน โดยในตอนนี้ ประชากร 76% ในคาราบัคเป็นชาวอาร์เมเนีย, 23% เป็นชาวอาเซอร์ไบจาน ส่วนที่เหลือเป็นชาวรัสเซียและชาวเคิร์ด ก่อนที่อาเซอร์ไบจานจะประกาศยกเลิกสถานะปกครองตนเองของคาราบัค เพื่อควบคุมพื้นที่แห่งนี้โดยตรง

ทหารอาเซอร์ไบจานเติมกระสุนระหว่างการต่อสู้ใกล้กับหมู่บ้าน กูลาแบร์ด ทางใต้ของ นากอร์โน-คาราบัค เมื่อ 18 ต.ค. 1992
ทหารอาเซอร์ไบจานเติมกระสุนระหว่างการต่อสู้ใกล้กับหมู่บ้าน กูลาแบร์ด ทางใต้ของ นากอร์โน-คาราบัค เมื่อ 18 ต.ค. 1992

...

ในวันที่ 10 ธ.ค. 1991 หรือแค่ 15 วันต่อมา ชาวอาร์เมเนียในคาราบัคก็ลงประชามติแยกตัวเป็นอิสระ ซึ่งแน่นอนว่าอาเซอร์ไบจานไม่ยอมรับ โซเวียตพยายามเข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ก็ไม่เป็นผล จนในที่สุดก็เกิดสงครามระหว่าง อาเซอร์ไบจาน กับภูมิภาค นากอร์โน-คาราบัค โดยฝ่ายหลังได้รับการสนับสนุนจากอาร์เมเนีย และการปะทะรุนแรงขึ้นกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบหลังจากทั้งอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจาน เป็นอิสระจากสหภาพโซเวียตในปีเดียวกันนั้น

การต่อสู้ครั้งนี้ถูกเรียกว่า สงครามนากอร์โน-คาราบัค มีกองกำลังต่างชาติมากมายเข้ามามีส่วนร่วม โดยรัสเซียสนับสนุนคาราบัค ส่วนตุรกีกับยูเครนหนุนฝ่ายอาเซอร์ไบจาน มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสองฝ่าย 16,000-36,000 คน บาดเจ็บอีกร่วม 70,000 ราย ก่อนจะมีการทำข้อตกลงหยุดยิงในปี 1994 โดยชาวอาร์เมเนียครอบครองพื้นที่เกือบทั้งหมดของ นากอร์โน-คาราบัค และยึดเขตโดยรอบได้อีก 7 แห่ง

จนถึงทุกวันนี้ นากอร์โน-คาราบัค ถูกปกครองโดยกลุ่มชาวอาร์เมเนียที่เรียกตัวเองว่า สาธารณรัฐอาร์ทซัค ซึ่งอาร์เมเนียคอยให้การสนับสนุนทางการเงินและอ้างตัวเป็นเจ้าของพื้นที่แห่งนี้ แต่คำอ้างของพวกเขาไม่ได้รับการยอมรับจากชาติสมาชิกใดๆ ของสหประชาชาติ ซึ่งยังถือว่า ภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค เป็นของอาเซอร์ไบจานอยู่

การปะทะรอบใหม่ที่ นากอร์โน-คาราบัค ปะทุขึ้นเมื่อ 27 ก.ย. 2563
การปะทะรอบใหม่ที่ นากอร์โน-คาราบัค ปะทุขึ้นเมื่อ 27 ก.ย. 2563

...

และแล้วการต่อสู้รอบใหม่ก็ปะทุขึ้น

การทำข้อตกลงหยุดยิงไม่อาจยุติความขัดแย้งระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานได้ ทั้งสองฝ่ายยังคงปะทะกันประปรายหลายต่อหลายครั้งในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก สถานการณ์เริ่มตึงเครียดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายยิงอาวุธต่อสู้กัน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 16 ศพ รวมทั้งนายพลระดับสูงของอาเซอร์ไบจานด้วย

และล่าสุดในวันอาทิตย์ที่ 27 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา กองทัพอาเซอร์ไบจานกับทหารของสาธารณรัฐอาร์ทซัค ก็เปิดฉากปะทะกันอีกครั้ง ทำให้รัฐบาลอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจาน ต้องเคลื่อนกำลังทหารและประกาศใช้กฎอัยการศึกในหลายพื้นที่ของประเทศ

รถถังของอาเซอร์ไบจานถูกโจมตี
รถถังของอาเซอร์ไบจานถูกโจมตี

ขณะที่การต่อสู้ยืดเยื้อเป็นเวลานานหลายวันก็ยังไม่มีทีท่าจะสงบลง ฝ่ายอาเซอร์ไบจานประกาศว่าพวกเขาสามารถยึดหมู่บ้านในนากอร์โน-คาราบัค ได้หลายแห่ง ขณะที่กองทัพของอาร์เมเนียหนีไปยังพื้นที่แถบหมู่บ้านโตนาเชน แต่ฝ่ายอาร์เมเนียปฏิเสธ พร้อมอ้างว่า พวกเขาสามารถทำลายรถถังของอาเซอร์ไบจานได้หลายคัน และทำลายเฮลิคอปเตอร์กับโดรนได้อีกหลายลำ

...

ทางการของนากอร์โน-คาราบัคเผยด้วยว่า นับตั้งแต่ความรุนแรงปะทุขึ้น พวกเขามีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตแล้ว 80 นาย ชาวบ้านเสียชีวิตอีก 7 ศพ ส่วนอัยการอาเซอร์ไบจานเผยในวันพุธว่า พลเมืองของพวกเขาเสียชีวิต 14 ศพและบาดเจ็บอีก 46 คน

ประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป เอร์โดอัน แห่งตุรกี
ประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป เอร์โดอัน แห่งตุรกี

ตุรกีออกตัวแรง ลั่นช่วยอาเซอร์ไบจานยึดคืนพื้นที่พิพาท

ตุรกีประกาศอย่างชัดเจนว่าพวกเขาสนับสนุนอาเซอร์ไบจานในการต่อสู้ครั้งนี้ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ุอันดีต่อกันมาอย่างยาวนานทั้งในด้านวัฒนธรรม, เศรษฐกิจ และการเมือง

นายเมฟลุต คาวูโซกลู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศระบุว่า ตุรกีจะให้การสนับสนุนอาเซอร์ไบจานทั้งในภาคพื้นและบนโต๊ะเจรจา ขณะที่ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป เอร์โดอัน กล่าวว่า พวกเขามีพันธสัญญาที่จะช่วยอาเซอร์ไบจานนำดินแดนที่ถูกยึดไปกลับคืนมา

คำพูดของฝ่ายตุรกีทำให้เกิดความกังวลว่า ตุรกีอาจสนับสนุนให้มีการใช้กำลังทหารมากกว่าที่เป็นอยู่ ส่งผลให้ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ออกมาเตือนตุรกีเรื่องการพูดที่เหมือนให้ก่อสงคราม และกล่าวเป็นนัยว่า ฝรั่งเศสจะให้การสนับสนุนอาร์เมเนียมากขึ้น อนึ่ง อาร์เมเนียกับฝรั่งเศสนับว่ามีความเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง โดยมีชาวฝรั่งเศสหลายแสนคนที่สืบเชื้อสายมาจากชาวอาร์เมเนีย

ขณะที่รัสเซีย ซึ่งเป็นพันธมิตรทางทหาร และมีค่ายทหารตั้งอยู่ในอาร์เมเนีย ออกมาเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดยิงทันที และเสนอตัวเป็นตัวกลางเจรจาลดความขัดแย้ง

จรวดที่อาเซอร์ไบจานยิงเข้าใส่ นากอร์โน-คาราบัค เมื่อ 1 ต.ค. 2563
จรวดที่อาเซอร์ไบจานยิงเข้าใส่ นากอร์โน-คาราบัค เมื่อ 1 ต.ค. 2563

การต่อสู้จะบานปลายหรือไม่?

การปะทะกันระหว่างอาเซอร์ไบจานกับชาวอาร์เมเนียในนากอร์โน-คาราบัค ทำให้เกิดความกังวลว่าสถานการณ์จะบานปลาย กลายเป็นการต่อสู้ขนาดใหญ่ขึ้น

เพียงไม่กี่วันหลังการปะทะเริ่มต้นขึ้น ก็มีรายงานมากมายที่ชี้ว่ากองกำลังต่างชาติอาจกำลังเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อสู้ระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจาน เช่นเมื่อวันที่ 29 ก.ย. ที่ผ่านมา สถานการณ์เริ่มตึงเครียดอย่างหนักหลังรัฐบาลอาร์เมเนียออกมาอ้างว่า เครื่องบินรบ ซู-25 ของพวกเขาถูก เอฟ-16 ของตุรกียิงตก พร้อมกับเผยแพร่ภาพซากเครื่องบินออกมา ซึ่งแน่นอนว่าฝ่ายตุรกีปฏิเสธ

ภาพที่อาร์เมเนียอ้างว่า เป็นซากเครื่องบิน ซู-25 ที่ถูกเครื่อง เอฟ-16 ของตุรกียิงตก
ภาพที่อาร์เมเนียอ้างว่า เป็นซากเครื่องบิน ซู-25 ที่ถูกเครื่อง เอฟ-16 ของตุรกียิงตก

นอกจากนี้ อาร์เมเนียยังอ้างว่า ตุรกีเกณฑ์นักรบติดอาวุธในซีเรียเข้าไปต่อสู้ในอาเซอร์ไบจาน ขณะที่นักรบติดอาวุธในซีเรียบอกกับสำนักข่าว เดอะ การ์เดียน ว่า บริษัทความปลอดภัยเอกชนของตุรกี เริ่มเกณฑ์คนส่งไปอาเซอร์ไบจานตั้งแต่เมื่อเดือนก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม ตุรกีปฏิเสธ ขณะที่อาเซอร์ไบจานระบุว่า นี่เป็นการกล่าวหาที่ไร้สาระอย่างสิ้นเชิง

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น หากตุรกีเข้าไปยุ่งในเหตุพิพาทครั้งนี้จริง รัสเซียซึ่งเป็นคู่แข่งแย่งชิงอิทธิพลกับตุรกีในหลายเวทีทั้งที่ซีเรียและลิเบีย ก็อาจตัดสินใจเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย และเมื่อรัสเซียเข้าไปมีส่วนร่วม ก็อาจดึงให้ฝรั่งเศส หรือสหรัฐฯ กระทั่งชาติยุโรปอื่นๆ ให้เจริญรอยตาม

กองกำลังของกลุ่มชาติพันธ์ุอาร์เมเนียในนากอร์โน-คาราบัค ยิงปืนใหญ่โจมตีกองทัพอาเซอร์ไบจาน ระหว่างการต่อสู้ในปี 2016
กองกำลังของกลุ่มชาติพันธ์ุอาร์เมเนียในนากอร์โน-คาราบัค ยิงปืนใหญ่โจมตีกองทัพอาเซอร์ไบจาน ระหว่างการต่อสู้ในปี 2016

แต่โอกาสที่เรื่องจะบานปลายไปถึงขั้นนั้นนับว่าต่ำมาก เพราะภูมิภาคคอเคซัสใต้ (อาร์เมเนีย, อาเซอร์ไบจาน และจอร์เจีย) เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญด้านการขนส่งพลังงาน เปรียบได้กับเส้นเลือดที่ส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้แก่ตุรกี, ยุโรป รวมทั้งตลาดโลก จึงเชื่อว่าหลายๆ ฝ่ายจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้การต่อสู้ลุกลาม หรืออย่างน้อยก็ไม่ให้ถึงขั้นสงครามเต็มรูปแบบ

ผู้เขียน: H2O

ที่มา: NBCnews, TheGuardian, WSJ