ดาราจักรหรือกาแล็กซีทรงกังหัน (spiral galaxies) บางครั้งเรียกว่ากาแล็กซีชนิดก้นหอย ส่วนใหญ่มีลักษณะคล้ายแผ่นดิสก์ หรือเหมือนจานแบนๆ แต่เต็มไปด้วยดวงดาว ก๊าซ ฝุ่น ที่กระจาย ออกมาในรูปของแขนกังหันบิดโค้งงอ ส่วนบริเวณใจกลางที่ส่องสว่างเรียกว่าส่วนโป่ง (bulge)
ก่อนหน้านี้มีการศึกษาเกี่ยวกับการก่อตัวและวิวัฒนาการของกาแล็กซีทรงกังหัน โดยเฉพาะเรื่องส่วนแบ่งความสว่างจากดาวฤกษ์ที่อยู่ภายในกาแล็กซีไปจนถึงส่วนโป่งตรงใจกลาง เช่น ในกาแล็กซีทรงกังหันมีการประเมินค่าความส่องสว่างตรงส่วนโป่งที่สูงเกินไป อาจนำไปสู่การจำแนกประเภทของส่วนโป่งที่ผิดพลาด หมายถึงว่าการศึกษาครั้งนั้นอาจตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ไม่ถูกต้อง ขณะนี้ข้อสันนิษฐานดังกล่าวถูกท้าทายจากสถาบันฟิสิกส์ดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อวกาศ (Instituto de Astrofísica e Ciências do Espaço-IA) ในโปรตุเกส พวกเขาเผยว่าได้พัฒนาเทคนิคการวัดความเข้มของแสงแบบใหม่ เพื่อใช้แยกส่วนโป่งออกจากจานฝุ่นก๊าซ โดยจะนำไปใช้ศึกษากาแล็กซีทรงกังหัน 135 แห่ง เพื่อหาคำตอบที่แน่ชัดของการก่อตัวกาแล็กซี
นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์เผยว่า กาแล็กซีที่มีกิจกรรมรุนแรงในแกนกลางมักเกี่ยวข้องกับการปรากฏตัวของหลุมดำมวลยวดยิ่ง ดังนั้น การยืนยันประชากรดาวฤกษ์ที่จานฝุ่นก๊าซ และแก้ไขวิธีหามวลของส่วนโป่ง อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของมวลระหว่างส่วนโป่งและหลุมดำมวลยวดยิ่ง รวมถึงช่วยวางข้อจำกัดใหม่ๆที่สำคัญในแบบจำลองการก่อตัวของกาแล็กซี.
Credit : ESO