เครื่องวัดออกซิเจนราคาประหยัดกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยลดความแออัด ไม่ให้ผู้ป่วยโควิด-19 ล้นโรงพยาบาลอินเดีย
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า เครื่องวัดออกซิเจนราคา 1,000 รูปี หรือราว 400 บาท ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในหมู่ผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศอินเดีย ที่มีอาการไม่รุนแรง
โดยทุกวันผู้ป่วยโควิด-19 อาการไม่หนัก ซึ่งถูกกักตัวอยู่ที่บ้านจะต้องใช้เครื่องวัดออกซิเจนวันละ 2 ครั้ง และถ่ายรูปส่งไปให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ประจำอยู่โรงพยาบาล ซึ่งหากค่าออกซิเจนวัดได้สูงกว่า 95 ก็ถือว่าอาการยังไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล
เครื่องวัดออกซิเจนราคาประหยัดเริ่มใช้ในอินเดียมากขึ้น หลังจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในอินเดียเพิ่มสูงขึ้น จนโรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ป่วยทั้งหมดได้ ทางการอินเดียจึงต้องยอมให้ผู้ป่วยอาการไม่สาหัสกลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงคือมักมีปัญหาระบบออกซิเจนในเลือดต่ำ โดยที่ร่างกายไม่แสดงอาการ ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเริ่มมีความคิดนำเครื่องวัดออกซิเจนราคาประหยัดมาใช้เพื่อตรวจอาการผู้ป่วยที่อยู่ตามบ้าน และตัดสินใจว่าผู้ป่วยรายดังกล่าวควรมารักษาตัวที่โรงพยาบาลหรือไม่
...
ก่อนหน้านี้รัฐบาลท้องถิ่นในกรุงนิวเดลีแจกจ่ายเครื่องวัดออกซิเจนให้กับผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรงมาแล้ว 32,000 เครื่อง เพื่อนำไปวัดระดับออกซิเจนระหว่างรักษาตัวที่บ้าน เช่นเดียวกับในรัฐอัสสัมที่เพิ่งสั่งเครื่องวัดออกซิเจนแจกผู้ป่วยอีกเกือบ 4,000 เครื่องเช่นกัน
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอินเดีย ยอมรับว่า เครื่องวัดออกซิเจนมีส่วนช่วยประหยัดงบประมาณการรักษาผู้ป่วยได้กว่า 10 เท่าตัว ขณะที่ผู้ป่วยรายหนึ่งที่ใช้เครื่องวัดออกซิเจนในช่วงกักตัวที่บ้านระบุว่า เครื่องวัดออกซิเจนช่วยให้คนที่บ้านอุ่นใจมากขึ้น เพราะแม้จะมีอาการป่วย แต่ตราบใดที่ระดับออกซิเจนยังปกติ ญาติก็จะไม่กังวลมากนัก
ปัจจุบันอินเดียมีผู้ป่วยโควิด-19 มากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก โดยมีผู้ป่วยสะสมอยู่ที่กว่า 3.6 ล้านราย โดยในวันจันทร์ (31 ส.ค.) พบผู้ป่วยใหม่กว่า 30,000 ราย อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่ เช่น ในกรุงนิวเดลี ซึ่งนำเครื่องวัดออกซิเจนมาใช้ กลับพบว่า จำนวนผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด โดยโรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มมีเตียงคนไข้ว่างแล้ว
อินเดีย ไม่ใช่ประเทศแรกที่นำเครื่องวัดออกซิเจนราคาประหยัดมาใช้ต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลสิงคโปร์เคยแจกจ่ายเครื่องวัดออกซิเจนลักษณะเดียวกันให้กับแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่รวมกันในหอพักขนาดใหญ่ จนกลายเป็นพื้นที่การระบาดหลักของประเทศเมื่อเดือนพฤษภาคม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ยอมรับว่า เครื่องวัดออกซิเจนทำให้บรรดาแรงงานข้ามชาติสามารถเฝ้าระวังสุขภาพของตัวเองได้อย่างมั่นใจ